การบำเพ็ญศีล ตอน ๓

สิกขาบท ๑๐ และ ๒๒๗

สำหรับเพศบรรพชิตแล้ว เป็นสามเณรต้องสำรวมในสิกขาบท ๑๐ ข้อ เพิ่มเข้าไปอีก ๒ ข้อ คือห้ามรับเงินรับทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ก็เป็นการบรรเทาเรื่องตัณหาอีกประการหนึ่ง เพราะถ้าหากว่ามีเงินมีทองอยู่กับตัวแล้ว มันก็เกิดตัณหาขึ้นได้เหมือนกัน เดี๋ยวก็อยากได้อันโน้น เดี๋ยวก็อยากได้อันนี้ ไม่หยุดหย่อน ถ้าสละออกไปเสีย ไม่ใช่ของเราเสีย แล้วพยายามฝึกหัดจิตใจไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับมัน ให้พิจารณาเห็นเงินทองเหล่านั้นเหมือนกับงูพิษเสมอ อย่างนี้แล้วมันก็เป็นเครื่องสกัดกั้นกิเลสตัณหาออกจากจิตใจได้ประเภทหนึ่ง สิกขาบทนี้สำหรับสามเณร เป็นข้อปฏิบัติกำจัดกิเลสตัณหา

ศีล ๘ ก็ดี ศีล ๑๐ ก็ดี หรือศีล ๒๒๗ ลองพิจารณาดู ไม่ใช่ของยากลำบากเหลือวิสัยการจะสำรวมระวังปฏิบัติตามให้ได้ ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้ พระองค์ได้คิดแล้วว่าบุคคลสามารถที่จะปฏิบัติตามได้ ถ้าหากบุคคลไม่สามารถปฏิบัติตามได้แล้ว พระศาสดาคงไม่บัญญัติไว้ เมื่อเราพิจารณาเหตุผลให้เกิดขึ้นในจิตใจอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ผู้อยู่ในฐานะเช่นไรก็ยินดีที่จะสมาทานมั่นอยู่ในสิกขาบทพุทธบัญญัติที่ตนได้สมาทานนั้นอย่างเต็มภาคภูมิ เรียกว่า พอใจที่จะปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าฝืนใจอุตส่าห์พยายามอดกลั้น ไม่พอใจอย่างไรก็อดกลั้นทำไป ถ้าหากเป็นเช่นว่านั้น การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นไปเพื่อความสุขความเย็นใจได้ จะเป็นไปเพื่อความทุกข์ ทำไปด้วยความไม่พอใจ เราต้องพิจารณาด้วยเหตุผลเหล่านี้ให้เห็นแจ่มแจ้งด้วยปัญญา จึงจะเกิดศรัทธาความเลื่อมใส ความพอใจปฏิบัติตามพระวินัยคำสั่งสอน

ตัวศีลนั้น โดยสรุปแล้วก็หมายเอาตัวเจตนาตั้งใจละเว้นไม่ล่วงเกินสิกขาบทที่ได้สมาทานแล้วนั้นเป็นเด็ดขาดเลยทีเดียว นี่แหละตัวศีล คือตัวเจตนานั่นเอง ก็คือจิตนั่นเอง พูดสั้นๆ เมื่อจิตตั้งมั่นว่าเราจะสำรวมระวังไม่ล่วงเกิน แม้ชีวิตจะแตกดับทำลายก็ช่าง ก็ยอม ตั้งใจบูชาพระธรรมวินัย เรียกว่าตัวศีลอยู่ตรงนี้ เมื่อไม่รู้จักศีลตัวนี้ อันนับว่าเป็นพ่อเป็นแม่ของศีลแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาศีลตัวอื่นๆ ได้ ให้พากันเข้าใจ อ่านต่อ...