การบำเพ็ญศีล ตอน ๕

ธรรมะเป็นของยาก

ดังนั้น การที่บุคคลจะได้ศรัทธาความเชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจริง ๆ เป็นของหาได้ยาก มีเป็นจำนวนน้อย การที่พวกเราเข้ามาอบรมฝึกฝนตนเพื่อบวชเรียนในพระพุทธศาสนานี่ก็ให้พึงพากันศึกษาให้เข้าใจปากทางความเสื่อมแห่งชีวิตที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดังกล่าวแล้ว พิจารณาให้เห็นด้วยตนเองจริงๆ การบำเพ็ญตนเป็นนักเลงดังว่านั้น มันให้โทษให้ทุกข์จริงๆ ให้ถึงความเสื่อมความฉิบหายในชาตินี้จริงๆ พิจารณาให้เห็นด้วยปัญญาของตนเองให้ได้ เมื่อพิจารณาให้เห็นด้วยตนเองตามที่พระองค์แสดง ผู้นั้นก็จะเป็นผู้ละเว้นความประพฤติเช่นนั้นได้ จะไม่บำเพ็ญตนเป็นคน ๔ ประเภทนั้น แม้ผู้ใดจะอยู่ในฐานะเช่นใด จะมีอาชีพเป็นข้าราชการ ชาวนา ชาวสวน พ่อค้าพาณิชย์ ก็ย่อมหาหนทางหรืออุบายหลีกเลี่ยงจากอบายมุขคือเหตุเครื่องฉิบหาย ๔ ประการนี้ให้ได้ จึงจะได้ชื่อว่าพุทธศาสนิกชน แปลว่าเป็นบุคคลผู้นับถือพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง นี่แหละ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าฝืนความรู้สึกของคนเหล่านั้นส่วนมาก แต่ผู้ที่ไม่ยอมตนอยู่ภายใต้กิเลสตัณหาดังว่ามาแล้วนั้น มันฝืนจริงจังได้ ไม่ยอมล่วงเกิน ไม่ยอมปฏิบัติตาม เมื่อผู้มีปัญญาได้พิจารณาเห็นชอบตามคำสอนของพระองค์แล้ว แม้ว่าจะฝืนความรู้สึกที่ตนเคยชินมาแต่ก่อน ก็ทนฝืนไม่ไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาเหล่านั้น เรียกว่า “ทวนกระแสของกิเลส” ได้ เมื่อมีศรัทธาแรงกล้าแล้ว ทวนเลย หมายความว่าหากตนเคยบำเพ็ญตนเป็นนักเลง ๔ ประเภทนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ตัดสินใจละไม่บำเพ็ญตนเป็นนักเลงอีกต่อไป อย่างนี้แหละการที่เราเข้ามาบวช หากว่าผู้ที่บวชอยู่ใช้ได้ในพระศาสนา สึกออกไปก็เป็นผู้บำเพ็ญตนเป็นคนดี ไม่บำเพ็ญตนเป็นนักเลงใน ๔ ประเภทนั้น เป็นคนดี จะเป็นผู้ที่สมบูรณ์ลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น เมื่อได้ทราบความมุ่งหมายของการบวชว่ามีอานิสงส์มากดังแสดงมาแล้ว จงพากันผูกความศรัทธา ความเลื่อมใส ความเชื่อ ลงในการบวชนี้ให้แก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไป

การนั่งสมาธินี้ ให้พากันนั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ทำกายให้เที่ยงตรง หลับตา นึกภาวนา พุทโธๆๆ รวมจิตใจเข้าไปภายใน การนึกถึงคุณพระพุทธเจ้านี้ นึกได้มากเท่าใด เจริญได้มากเท่าใด เป็นกำลังให้จิตใจของรเาสงบระงับตั้งมั่น เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้น ก่อนจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ได้บำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนามาก จึงได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อเราระลึกถึงพระพุทธองค์ บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา เราทุกคนก็ต้องตั้งใจให้มั่นคง อย่าได้หวั่นไหวไปตามเรื่องราวทั้งหมด การภาวนานี้ท่านไม่ให้อ้างกาล อ้างเวลา ไม่ต้องเลือกว่ากลางวันกลางคืน ฝนตกแดดออกก็ภาวนาได้ ภาวนาได้ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน แต่การนั่งสมาธิ เดินจงกรมนี้ เป็นระยะเป็นกาลเป็นเวลา ส่วนภายในจิตใจนั้นนึกเจริญได้ทุกเวลา นึกพุทโธได้ทุกเวลา พุทโธ ยึดใจผู้รู้ ผู้นึกพุทโธ พุทโธนี้เป็นพระนามของพระศาสดาพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ที่เราได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เดี๋ยวนี้ก็มาจากพุทโธ พระพุทธเจ้า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ก่อน สงฆ์สาวกทั้งหลายจะไม่มีความรู้ความเข้าใจอันใดที่จะมาสั่งสอนพุทธบริษัท นี่คือความเกี่ยวโยงถึงพระพุทธเจ้าคือพุทโธ จงพากันรำลึกถึงคุณของท่าน ธัมโม สังโฆ ก็อยู่ในจำพวกเดียวกัน ถ้านึกถึงพระพุทธเจ้า ก็ชื่อว่า พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในนั้นแล้ว ให้พากันเจริญแล้วทำจิตใจให้ตั้งมั่น อย่าได้หวั่นไหวไปด้วยเหตุการณ์ใดๆ

เมื่อเวลาเรานั่งสมาธิแล้ว ตั้งใจฟังธรรม อันการฟังธรรมนี้ไม่ต้องการให้จำเอาธรรม แต่ต้องการให้จำเอาอุบายข้อใดข้อหนึ่งที่ถูกกับจริตจิตใจของเรา แม้อุบายเดียวก็สามารถที่จะยั้งจิตใจของเราให้สงบระงับเป็นสมาธิภาวนาได้ แต่ถ้าเพียงแต่ฟังแล้วจดจำธรรมไป ไม่ได้อุบายธรรมไป อันนี้ก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าใดนัก แต่ถ้าเราจดจำเอาข้อใดข้อหนึ่งที่ถูกกับจิตใจของเรา จะเป็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความไข้ ความพลัดพรากจากสังขารทั้งหลาย เมื่อเรานึกถึงสิ่งนั้นแล้วจิตใจของเราสงบระงับ สลดสังเวช มีความสงบ ตั้งมั่น เย็น สบาย จิตใจเป็นดวงหนึ่งดวงเดียว หรือว่าเกิดศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสอันมั่นคงในการประพฤติปฏิบัติ ยังดวงจิตดวงใจของเราให้ดีขึ้น นั้นแหละได้ชื่อว่าเป็นอุบายธรรม ธรรมต่างๆ นี้มีอยู่ทั่วไป จะอะไรก็เป็นอุบายธรรมได้ทั้งนั้น ถ้ารู้จักกำหนด รู้จักพิจารณา ไม่ว่าเราจะเห็นสิ่งใด เห็นสัตว์ เห็นวัตถุธาตุทั้งหลายในโลกนี้ ก็ให้ระลึกถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายด้วย นับตั้งแต่ตัวของเราเอง คือ รูป นาม กาย ใจ ของคนเรานี้ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ยั่งยืนจะเป็นอยู่ดังใจหมายทุกอย่างทุกประการนั้นเป็นไปไม่ได้ ธรรมดารูปขันธ์นี้ เมื่อเกิดขึ้นมา มีเหตุมีปัจจัยเพียงพอแล้วก็เจริญขึ้น เจริญเพียงพอแล้วก็มีเหตุชำรุดทรุดโทรม ผลที่เกิดคือรูปขันธ์นี้ก็เข้าถึงซึ่งความแตกดับ เรียกว่า “ตาย” เมื่อตายแล้วมันก็ไม่ไปไหน มันก็อยู่ในโลกนี้แหละ ธาตุดินก็ไปเกิดธาตุดิน ธาตุน้ำก็ไปเกิดธาตุน้ำ ธาตุไฟก็ไปเกิดธาตุไฟ ธาตุลมก็ไปเกิดธาตุลม เรากลับคืนไปที่เก่าของเราเท่านั้น ส่วนดวงจิตดวงใจย่อมเห็นแจ้งในรูป นาม กาย ใจ เห็นตลอดไปในโลกนี้ว่า อนิจจังไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้แน่นอน เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป ย่อมมีความเปลี่ยนแปลง ทุกขัง ใครก็ตามมีรูป มีนาม มีกาย มีจิตแล้ว มันก็เต็มไปด้วยกองทุกข์เหมือนๆ กันหมด อนัตตา สิ่งใดทั้งหมดในรูป นาม กาย ใจ นี่ ส่วนมากจิตใจเราก็คิดว่าตัวตนอันนี้เป็นของเรา เป็นตัวเรา แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ของเรา ของเราไม่มี ของเขาก็ไม่มี เป็นธาตุโลกอยู่อย่างนั้นเอง ถ้าจิตคนเรายึดเอาถือเอาแล้ว จะเอาให้เป็นไปตามใจหวัง มันก็เกิดความทุกข์โทมนัสขึ้นมาภายในจิตใจ อ่านต่อ...