ปัญหาเรื่องกรรม ตอน ๓

คนทำชั่วได้ชั่ว คนทำดีได้ดีเป็นอย่างไร คนทำชั่วไม่ได้ในผลชั่วเพราะเหตุใด

คนทำชั่วได้ดียังไม่ได้รับโทษทัณฑ์ เพราะกรรมดีที่มีอยู่ของเขากำลังให้ผลอยู่ กรรมชั่วที่เขากำลังกระทำยังไม่ให้ผล ต่อเมื่อหมดผลแห่งกรรมดี กรรมชั่วจึงให้ผลต่อไปได้ เป็นเช่นนี้แหละ เพราะฉะนั้น คนเราจึงเกิดความไขว้เขวไป เรื่องความเป็นอยู่แตกต่างกันเป็นเรื่องน่าสงสัยสำหรับผู้ที่ไม่รู้แจ้งในเรื่องของกรรมอย่างถ่องแท้ตามที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจได้ คือกรรมของสัตว์ทั้งหลายอาจจะอุปมาได้เหมือนลูกโซ่ที่เป็นห่วงร้อยกันอยู่อย่างนี้ กรรมที่กระทำไว้ในโลกนี้ก็ย่อมให้ผลต่อเนื่องกันไป เรียกว่าให้ผลเป็นขั้นตอนไปไม่สับสนกัน หมายความว่าเวลาใดกรรมดีกำลังให้ผลอยู่ กรรมชั่วก็ไม่ให้ผล เป็นอย่างนั้น แม้ว่าคนนั้นจะทำชั่วอย่างไร แต่กรรมดีก็ยังอุปถัมภ์เขาอยู่ เขาก็ยังไม่เสื่อมจากลาภ จากยศ และยังไม่ประสบกับความทุกข์แต่อย่างใด ที่นี้หากว่ากรรมดีหมดอายุลงเมื่อใด กรรมชั่วที่เขาทำก็จะมีโอกาสให้ผลเมื่อนั้น

การที่เรามาศึกษาเรื่องราวของพระพุทธศาสนา ขอให้ได้ศึกษาเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรมนี่ให้มากเท่าที่จะมากได้ มันเกี่ยวโยงกับชีวิตของเรา เรื่องกรรมดีกรรมชั่วนี่ใช่ว่าเราศึกษาเพื่อใคร หามิได้ ความจริงเราศึกษาเพื่อตัวของเราเอง เมื่อเรามารู้แจ้งชัดในกรรม ในผลของกรรมดังกล่าวมาแล้ว ผู้นั้นก็จะพยายามเว้นจากความชั่วต่างๆ และพยายามสร้างสมความดีขึ้นมาในตน ก็อาศัยความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยตนเองนี่แหละ คนเราจึงจะละความชั่วประกอบความดีได้ ถ้าไม่รู้ไม่เห็นด้วยตนเองแล้วมันละไม่ได้เรื่องกรรมชั่ว กรรมดีก็สร้างไม่ได้ เพราะมนุษย์นั้นเหมือนอย่างสัตว์เดรัจฉาน เพราะมนุษย์ถือมานะ ทิฐิ ส่วนมากสำคัญว่าเราเป็นหนึ่งละในโลกนี้ และไม่ค่อยยอมเชื่อใครง่ายๆ ถ้าไม่เห็นด้วยตนเองเสียก่อน แต่ทั้งที่ไม่เห็นด้วยตนเอง ก็ไม่พยายามขวนขวายศึกษา ไม่พยายามค้นคว้า มีแต่มานะทิฐิทับถมจิตใจไว้เฉยๆ และก็ทำกรรมชั่วเรื่อยไป นี่คนส่วนมาก สำหรับผู้มีปัญญาทั้งหลายแล้ว เมื่อไม่เห็นอย่างว่า คือธรรมดาผู้มีปัญญาย่อมเคารพต่อเหตุผล ถ้าใครพูดออกมาแล้วมีเหตุมีผล ควรคิดพิจารณาได้ก็เงี่ยหูฟังทันที แล้วก็กำหนดพิจารณาเรื่องราวที่บุคคลนั้นแสดงออกมาว่า มันมีเหตุมีผลอย่างไร เป็นเหตุที่ดีหรือเป็นเหตุผลที่ไม่ดี ให้มันรู้แจ้งด้วยตนเอง ถ้าเป็นเหตุผลที่ดีก็ปฏิบัติตาม ถ้ารู้ว่าเป็นเหตุผลที่ไม่ดีไม่ถูกทาง ก็ไม่ทำตามเสียและก็ไม่เสียหายอะไร อุปมาเหมือนอย่างบุคคลไปตลาดขายของ มีสตางค์ติดตัวไป เมื่อไปเห็นสิ่งของในร้านแล้วก็เลือกเอาตามต้องการ ไม่มีใครบังคับให้ซื้อของของใคร คือแล้วแต่ตนเองจะชอบใจอย่างไรก็จึงไปติดต่อขอซื้อกับเขา เขาขายให้ก็เอา ไม่ขายให้ก็แล้วไป อันนี้ก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ สดับตรับฟังเป็นหน้าที่เป็นสิทธิของผู้ฟัง คือว่าทุกคนต้องเคารพต่อการสดับตรับฟัง แต่การที่จะเอาตามหรือไม่เอาตามนั้นเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล นี่นักปราชญ์ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ อ่านต่อ...