ฐานิยปูชา ตอน ๒

ศีล ๕ ปิดประตูนรก

เมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์
แม้เราจะยังทำสมาธิภาวนาไม่เป็น
ก็ได้ชื่อว่าตัดบาปตัดกรรมให้หมดสิ้นไปแล้ว


เมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์
กายของเราก็สงบ ศีลสงบจากการทำบาป
วาจาของเราก็สงบ คือสงบในการพูดในทางที่เป็นบาป
แม้จิตของเรายังคิดที่จะทำบาป
แต่เราไม่ละเมิดล่วงเกินศีล ๕
บาปกรรมอะไรก็ไม่เกิดขึ้น


เมื่อเรามีคุณงามความดีพอกพูนมากขึ้นๆ กำลังของศีลมีพลังแก่กล้าขึ้น กายเป็นปกติ วาจาเป็นปกติ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งหนุนให้จิตใจของเราเกิดความเป็นปกติ


เมื่อความปกติเริ่มเกิดขึ้นที่ใจของเรา ความคิดจะฆ่า เบียดเบียน ข่มเหงหรือรังแกก็น้อยลงหรือหมดไปไม่มีเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ประกันความปลอดภัยของเราได้ว่าเราจะไม่ต้องตกนรก

รู้ให้ถูก

ความรู้ความเห็นอันใด
แม้จะรู้เห็นในสมาธิภาวนา
เห็นนรกเห็นสวรรค์
เห็นภาพนิมิตต่างๆ
โดยที่สุดแม้จะรู้วาระจิตของคนอื่น
ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่วิเศษวิโส
แต่สิ่งที่วิเศษวิโสที่ควรจะยึดเป็นหลัก
คือการรู้จิตของตนเอง
รู้กายของตนเอง


รู้กาย คือรู้ธรรมชาติของร่างกายว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร
ส่วนความรู้ที่จำเป็นที่สำคัญที่สุด ก็คือรู้จิตรู้ใจของเราเอง
ว่าปัจจุบันนี้สภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไร
เศร้าหมองหรือผ่องใส
มีกิเลสตัวไหน (โลภ โกรธ หลง) อยู่ในใจของเราบ้าง
เมื่อเรารู้ความจริงของตัวเราแล้ว
เราจะแก้ไขดัดแปลงอย่างไรนั้น
ก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเรา

ตามรู้ความคิด

ให้ทำสติกำหนดรู้ลงที่จิต คอยจ้องดูว่าความคิดอะไรจะเกิดขึ้น พอมีความคิดอะไรเกิดขึ้น เราทำสติตามรู้ รู้ตามไปเรื่อย จิตมันจะคิดเรื่องดีเรื่องชั่วสารพัดสารเพอะไรก็แล้วแต่ ปล่อยให้มันคิดไป แต่หน้าที่ของเราทำสติตามรู้อย่างเดียว จะคิดเรื่องบุญเรื่องบาปเรื่องกุศลอกุศลอะไรไม่สำคัญ ให้กำหนดเอาความคิดอันนั้นแหละเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เช่นเดียวกับใจที่เราหาเรื่องมาพิจารณา

คนที่ปกติคิดมาก แต่ถ้าทำสติตามรู้ความคิดได้ การปฏิบัติจะรู้สึกสะดวกกว่าบุคคลผู้ซึ่งไม่ค่อยจะมีความคิด เพราะโดยปกติจิตของเราคิดอยู่แล้ว เราเพียงแต่ว่าทำสติกำหนดตามรู้มันเรื่อยไป เมื่อสติตามรู้ความคิดทันแล้วความสงบจะเกิดขึ้น เมื่อความสงบเกิดขึ้นแล้ว ก็มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง เช่นเดียวกับการบริกรรมภาวนาได้