สายกลางของการปฏิบัติ
ตอน ๒

ศีลเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม...เป็นเปลือกหุ้มไข่

ทีนี้ ศีลนี่เป็นหลักสำคัญ เป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมที่จะให้สำเร็จมรรคผลนิพพานกันจริง ๆ นั้น จะต้องมีศีลบริสุทธิ์ ด้วยกาย วาจา ต้องรักษากาย วาจา ของตนให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากโทษ อย่างต่ำศีล ๕ ข้อนั่นแหละ ศีล ๕ ข้อเป็นการตัดกรรมตัดเวร ศีล ๕ ข้อเป็นการละสิ่งที่จะทำด้วยอำนาจของกิเลส ศีล ๕ ข้อปรับพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ เพราะว่าผู้ที่จะได้สำเร็จมรรคผลนิพพานนี่ จะต้องมีศีลบริสุทธิ์ สมาธิ ปัญญา น่ะไม่สำคัญนะ อย่าไปเข้าใจว่าเป็นเรื่องสำคัญ ศีลต่างหากเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

กาย วาจา ของคนเรานี่เปรียบเทียบเหมือนเปลือกสำหรับหุ้มไข่ ส่วนใจเปรียบเหมือนไข่แดงซึ่งถูกเปลือก คือ กาย วาจา หุ้มเอาไว้ ที่เรามาปฏิบัติกิจศาสนานี่เพื่อจะให้เกิดคุณธรรม ให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา บริสุทธิ์บริบูรณ์ นี่ เราจะต้องรักษากาย วาจา ให้บริสุทธิ์สะอาด เมื่อกาย วาจา บริสุทธิ์สะอาดแล้ว เปลือกไข่ของเรามันไม่ร้าว ไม่มีรอยบุบ ไข่แดงซึ่งอยู่ภายในเปลือกหุ้ม เอาไปฟักมันก็เป็นตัว ถ้าเปลือกมันบุบมีรอยร้าว เอาไปฟักเท่าไรมันก็มีแต่เน่า ไม่เป็นตัว ประเดี๋ยวเขาก็ไปย่างเป็นไข่ด้านย่างอยู่ที่บ้านพังโคนโน่น

เพราะฉะนั้น ผู้มุ่งหวังที่จะปฏิบัติกิจพระศาสนาให้ตัวเองเจริญรุ่งเรืองด้วยคุณธรรม ต้องศีลบริสุทธิ์สะอาด ไม่ว่าคฤหัสถ์ ไม่ว่าแม่ขาว แม่ชี ไม่ว่าสามเณร ไม่ว่าทั้งภิกษุสงฆ์ เพราะฉะนั้น ศีลนี่จึงเป็นหลักสำคัญ เพราะว่าศีลนี้จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยในการประพฤติปฏิบัติ

สมาธิและปัญญาเป็น “ไข่เน่า” ถ้าขาดศีล

ส่วนสมาธินั้นมันเป็นดาบสองคม สมาธินี้ ใครบำเพ็ญให้มีพลังแก่กล้า เอาไปเป็นดาบเชือดคอหอยคนก็ได้นะ ส่งกระแสจิต พลังจิตอันมีสมาธิไปบีบหัวใจคนให้หยุดเต้นก็ได้ เพราะฉะนั้นสมาธิที่เป็นไปในแนวทางแห่งสัมมาสมาธิ จะต้องมีศีลเป็นเครื่องประกันความปลอดภัย ถ้าทำสมาธิเพื่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ ทำสมาธิเพื่อให้เกิดลาภเกิดผล ทำสมาธิเพื่อให้คนทั้งหลายยกมือไหว้ ยกย่องสรรเสริญว่าตัวเก่ง อันนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้า ภาวนาแล้ว สา....ธุ สาธุ สาธุ ขอให้คุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดลบันดาลให้ถูกหวยรวยเบอร์ ให้ทำมาค้าขึ้น อันนี้มันเป็นมิจฉาสมาธิ

เมื่อเราปฏิบัติตรงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ตรงต่อศีล สมาธิ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว นอกจากเราจะได้คุณธรรมภายใน คือศีลตัวปกติ สมาธิคือจิตที่มั่นคง ผลพลอยได้มันเกิดมาเอง ทรัพย์สินเงินทองไหลมาเทมา ถึงไม่มากมายก็พอเลี้ยงตัวได้อย่างสบาย เมื่อไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อนเพราะมีทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายใน อริยทรัพย์ ก็คือศีล ทรัพย์ภายใน อริยทรัพย์ ก็คือสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ ทรัพย์ภายใน ก็คือมีสติรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี มีหิริ โอตตัปปะ อายต่อบาป สะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง อันนี้ก็เป็นสัมมาสมาธิ

เมื่อมีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว อะไรก็เป็นสัมมา ชอบ ชอบ ชอบ ทั้งนั้น ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ทุศีลแล้ว อะไรๆ มันก็ไม่ชอบ พูดมันก็ไม่ชอบ ทำมันก็ไม่ชอบ คิดมันก็ไม่ชอบ เพราะไม่มีศีลเป็นเครื่องประกันความปลอดภัย เมื่อเป็นเช่นนั้น ศีลไม่บริสุทธิ์ กาย วาจาไม่บริสุทธิ์ ไปบำเพ็ญสมาธิ แม้สมาธิจะเกิดขึ้น ก็เป็นสมาธิแบบ “ไข่เน่า” คือมันไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้มรรคผลนิพพาน ทีนี้ในเมื่อสมาธิมันเป็นไข่เน่า ปัญญามันก็พลอยเน่าไปด้วย เพราะปัญญามันเกิดจากสมาธิ เพราะฉะนั้น พรหมจรรย์นี่ต้องบำรุงต้น บำรุงโคนให้มันดี ศีลคือโคนต้นของพรหมจรรย์ เมื่อเรารักษาศีล ประพฤติศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว สมาธิก็กลายเป็นสัมมาสมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ

ทรงแสดงอริยสัจ ๔ โปรดเบญจวัคคีย์

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอบรมจิตของท่านภิกษุปัญจวัคคีย์ให้มีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ที่จิต เพราะท่านตั้งใจนั่งอยู่นิ่งๆ กายของท่านก็เป็นศีล วาจาอยู่นิ่งเงียบไม่พูดไม่จา วาจาก็เป็นศีล เป็นปกติ ใจที่สำรวมตั้งใจฟังธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอน ใจก็เป็นปกติไม่วอกแวกไปในทางไหน เมื่อใจเป็นปกติ มีสติกำหนดรู้อยู่ที่จิต กายกับจิตยังมีความสัมพันธ์กัน อะไรผ่านเข้ามาทางหูก็ได้ยิน เมื่อเบญจวัคคีย์ได้ยินเสียงของพระพุทธเจ้า ก็กำหนดเอาเสียงเป็นอารมณ์ เอาเสียงเป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบว่าเบญจวัคคีย์มีจิตที่เตรียมพร้อมแล้ว คือเงี่ยโสตประสาทลงรองรับพระธรรมเทศนา พระองค์จึงได้ทรงแสดงอริยสัจ ๔ เริ่มต้นด้วย อ่านต่อ...