ธรรมปฏิบัติเพื่อความสุขใจ
แสดงพระธรรมเทศนาที่กระทรวงศึกษาธิการ
วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๑
โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ณ โอกาสนี้ จะบรรยายธรรมอันเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การฟังธรรม เราฟังเพื่อให้เกิดความรู้ รู้แล้วเอาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อการทำกาย วาจา และใจให้สงบ เพื่อสร้างจิตให้มีพลังงาน สามารถที่จะปฏิวัติตัวไปสู่ความบริสุทธิ์สะอาดได้โดยอัตโนมัติ

ในขั้นต้น เราได้ปฏิญาณตนถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง ที่ระลึก ก็เพราะเหตุว่า พระพุทธเจ้าเป็นบรมศาสดา เป็นผู้สอนเรา พระธรรมเป็นคำสอน ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา พระสงฆ์เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคำสอน ทั้งปริยัติปฏิบัติ และปฏิเวธ เราได้มาพบพระพุทธศาสนา เกิดมาได้ฟังธรรม บางท่านอาจเคยได้บวชเรียนเขียนอ่านในพระพุทธศาสนาโดยเป็นสามเณร สามเณรี แม่ขาว นางชี พระภิกษุสงฆ์ ก็เพราะอาศัยผลงานของพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้สืบศาสนามา ในยุคนี้สมัยนี้ก็มีพระเถรานุเถระท่านที่จัดเจนในหลักปริยัติธรรม ได้เรียน ได้สอน ฝึกอบรมกันมาในทางธรรม ปฏิบัติสืบต่อเป็นมรดกตกทอดมาถึงเราในปัจจุบัน

เมื่อเราทั้งหลายได้มาพบธรรมะคำสอนที่พระสงฆ์ท่านสืบทอดมา เราได้ยินได้ฟังธรรมะมาหลายสาย หลายแขนง และหลายรูปแบบ บางทีเราอาจจะงงว่า พระท่านมาเทศน์ ท่านก็เทศน์เป็นคุ้งเป็นแคว ไม่ทราบจะจับเอาอะไรเป็นหลัก บางทีคำพระท่านเทศน์ก็ขัดกันอยู่ในที เลยทำให้มีความสงสัยว่าของใครผิดของใครถูก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่

อาตมาบังเอิญได้ไปเที่ยวต่างประเทศ กลับมาถึง ๗ พฤษภาคมนี้ ไปสัมผัสกับสมาชิกพุทธสมาคมซึ่งเป็นชาวฝรั่งล้วนๆ ประมาณ ๒๐๐ คน แต่ละคนจะถามปัญหากับอาตมาว่า ทำอย่างไรหนอจึงจะเอาธรรมะอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสุขทางใจได้อย่างแท้จริง และเขายังพูดว่า เรื่องปริยัติไม่ต้องมาสอนก็ได้ เพราะเรียนมามากแล้ว บางท่านค้นคว้าอ่านพระไตรปิฎกจบ เรียนมาทางสายปรัชญา จิตวิทยา อันตรงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า เขาจึงกล่าวว่าปริยัติธรรมศึกษามาบ้างพอสมควร ถึงไม่รู้มาก ก็พอจะรู้ว่าพุทธศาสนาคืออะไรและคำสอนของพระพุทธเจ้าคืออะไร แต่พวกเขาสงสัยที่ว่าทำอย่างไรจึงจะนำเอาคำสอนนั้นๆ มาปฏิบัติให้เกิดความสุขทางใจได้อย่างแท้จริง ท่านพุทธบริษัทในเมืองไทยได้ฟังธรรมะที่พระท่านได้แสดงแล้วเคยคิดบ้างไหมว่าเราจะเอาธรรมะมาปฏิบัติให้เกิดสุขทางใจได้อย่างไร นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่เราจะต้องช่วยกันคิด

หลักการประพฤติปฏิบัติ อาตมามาเทศน์คราวก่อน และ ๒-๓ ครั้งติดกัน เทศน์แต่เรื่องศีล ถ้าผู้ใดต้องการจะละความชั่วอย่างแท้จริง ต้องถือหลักศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติ เจตนางดเว้นบาป ความชั่ว ตามกฎของศีล ๕ สิ่งที่เราจะละเอาได้ด้วยความตั้งใจ มีแต่ศีล ๕ เท่านั้น ถ้าใครข้องใจว่าทำอย่างไรจึงจะละความชั่วเพื่อปฏิบัติความดีให้เกิดขึ้นมาได้ ก็ให้ยึดหลักศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติตามศีล ๕ ไม่ได้ ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ช่วยเราไม่ได้ แม้ว่าเราจะเก่งทางความรู้ เก่งทางปฏิบัติให้เกิดอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ก็ตาม แต่ถ้าศีล ๕ ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างแท้จริง เรายังช่วยตัวเองให้พ้นจากนรกไม่ได้

คนที่เก่งสมาธิที่สุดนั้น สมัยพุทธกาลก็มี อย่างเช่น ท่านเทวทัตบำเพ็ญสมาธิภาวนา ทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์ เหาะเหินเดินอากาศได้ สามารถอธิฐานจิตเอาแผ่นดินไปติดไว้ใต้ฝ่าเท้า เหาะไปขู่พระเจ้าอชาตศัตรูยอมจำนนมอบตนเป็นลูกศิษย์ เพื่อจะได้กำลังสนับสนุนปฏิวัติพลิกแผ่นดินพลิกศาสนา ทำลายพระพุทธเจ้า ให้พระพุทธเจ้าสิ้นชีวิต แล้วจะได้สถาปนาตัวเองเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง ที่ท่านเทวทัตทำได้อย่างนั้นเพราะไม่มีศีล ๕ ศีล ๕ ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี จึงสามารถทำบาปทำกรรมได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่พระศาสดาท่านทรงสอนให้พระเทวทัตเป็นผู้ได้อิทธิฤทธิ์ในทางปฎิบัติ แต่เพราะศีล ๕ ไม่มี จึงคิดทรยศต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าหากเทวทัตมีศีล ๕ คงทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติ เราจะเอาตัวรอดพ้นจากอบายได้ต้องอาศัยศีลเป็นหลักประกันความปลอดภัย ดังนั้น อาตมาเทศน์ที่ไหน ก็ย้ำอยู่ที่ศีล ๕ เพราะเป็นกฎเกณฑ์ที่จะละความชั่วได้โดยเจตนา

บางท่านข้องใจต่อไปว่า ลำพังคฤหัสถ์ที่รักษาแต่ศีล ๕ จะปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้หรือไม่ ในครั้งพุทธกาลก็มีปรากฏอยู่หลายท่าน ท่านวิสาขามหาอุบาสิกาก็รักษาศีล ๕ อนาถบิณฑกะเศรษฐีและภรรยาก็รักษาศีล ๕ สมเด็จพระราชบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะก่อนที่จะฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้าในคราวเสด็จไปโปรดพระบิดา ก็ไม่ปรากฏว่าสมาทานศีล ๕ แต่พอฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจบลงก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ นี่หลักฐานของบุคคลอยู่ในฆราวาสรักษาศีล ๕ ปฏิบัติแล้วบรรลุโสดาฯ สกิทาฯ อนาคาฯ ได้อย่างนักบวช คฤหัสถ์ผู้ที่ไม่ได้บวช ปฏิบัติสำเร็จพระนิพพาน สำเร็จโสดาฯ สกิทาคาฯ อนาคาฯ อรหันต์นับไม่ถ้วน ที่นี้พระภิกษุสงฆ์ผู้บวชในพุทธศาสนาตายไปแล้วตกนรกก็มีถมเถไปในบางพระสูตรท่านกล่าวว่า พระสงฆ์ที่ทำผิดพระวินัยไปตกนรก ราวเหล็กโตขนาดลำตาล เอาไปพาดไว้บนเสาหัวท้าย เอาสบงจีวรของพระที่ทำผิดวินัยแล้วไปตกนรกเอาไปพาดบนราวเหล็ก จนกระทั่งราวเหล็กนี้อ่อนลงถึงพื้นดิน เพราะฉะนั้น เราจะไปข้องใจสงสัยอะไร มรรค ผลนิพพาน พระพุทธเจ้าไม่ได้ผูกขาดสำหรับนักบวชเพียงฝ่ายเดียว ผู้ใดปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อาศัยศีลเป็นหลักอย่างต่ำแม้เพียงศีล ๕ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบสามารถสำเร็จโสดาฯ สกิทาคาฯ อนาคาฯ และอรหันต์ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น อย่าไปข้องใจ อย่าไปสงสัย อ่านต่อ...