ธัมมะ ธัมโม ตอน 2

ของฟรี

หลวงพ่อไปกรุงเทพฯ มีผู้ถวายพระสมเด็จ เขาเรียกแบบทรงตั้งโต๊ะกัง ที่เรียกว่าตั้งโต๊ะกังเพราะสมเด็จโตท่านสร้างถวายรัชกาลที่ ๕ เพื่อพระราชทานเป็นรางวัลให้แก่บุคคลที่ช่วยพัฒนาบ้านเมือง ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกร้านทอง เสร็จแล้วมีผู้ถวายหลวงพ่อมา ทีนี้มีพระอาจารย์มนตรีเป็นอาจารย์สอนโรงเรียน มาบวชมาเห็นเข้าแกก็จับ ๆ วาง ๆ หลวงพ่อก็เดาคาดคะเนเอา คุณอยากได้ก็เอาไปซิ แกก็ดีใจจนเนื้อเต้นถามว่า "หลวงพ่อดีไหม" "ก็ดีซิถึงให้ ของไม่ดีจะให้ไปทำไม แล้วคุณว่าดีไหมล่ะ" "ก็ดีซิครับถึงอยากได้"

บางทีมีบางคนเขาให้เขาว่าเป็นพระก็ถือมา คนเขารู้ว่าหลวงพ่อมีพระเขาก็หาเงินมาเช่าซื้อ มีคนหนึ่งมีเงินมาหกพันบาท จะมาเช่าพระสมเด็จจากหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกไม่ได้หรอก ไม่ให้ แล้วก็มีอีกคนหนึ่งมาหาพระสมเด็จเหมือนกัน มานั่งอยู่เป็นนาน แกก็ถามคนแรกว่า "ถ้าผมมีปัญญาเอาได้คุณจะว่าผมไหม" "ก็เอาซี้ ถ้าคุณมีปัญญาเอาได้ก็เชิญตามสบายเลย ผมไม่ว่า" คนนั้นแกก็ลุกปุ๊บปั๊บลงไปใต้ถุนกุฏิ ไปขอธูปเทียนกับเณรที่อยู่ห้องข้างล่าง แล้วก็ไปเด็ดดอกไม้ขึ้นมา มาถึงก็มากราบ แกก็ไหว้พระ อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ว่านะโมพุทธังอะไรของแกไป มือหลวงพ่อนี่มันล้วงเข้าไปในย่ามยังกับสปริง เอามายื่นให้ หมอนั่นตบอกผาง "พระแบบนี้ก็มีด้วย ทำไมร่ำรวยมากนักหรือจึงให้" "ไม่ใช่ร่ำรวย แต่ของพวกนี้มันเป็นของไม่แน่นอน คุณมาดูแล้วคุณว่าของแท้ของจริงแต่คนหลังมาดูเขาอาจจะว่าไม่ใช่ของแท้ของจริง หลวงพ่อก็กลายเป็นพระโกหกต้มคน เพราะฉะนั้น จะแท้จะจริงจะเทียมก็ตาม คุณได้ฟรีๆ โดยไม่เสียสะตุ้งสตางค์ ฉันไม่เสียหาย"

ธรรมะของชาวเกาหลี

เขาว่า ในประเทศเกาหลีนั้น เขายึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักปฏิบัติอยู่ ๓ ข้อ

๑. อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน
๒. วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ จะล่วงทุกข์ไปได้เพราะความเพียร
๓. สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะให้เกิดสุข

อันนี้เป็นหลักธรรมที่ประเทศเกาหลีเขายึดเป็นหลักปฏิบัติ และได้ทราบว่าเขาถือเป็นหลักธรรมที่เขาจะต้องรณรงค์ เพื่อให้ประชากรของประเทศได้ประพฤติปฏิบัติโดยทั่วกัน คือเขาถือคติอย่างนี้ เขาถือว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน เขาถือหลักง่ายๆ ว่า ในเมื่อเราประสบอุปสรรคใด ๆ จะยากง่ายเพียงไรก็ตาม เขาถือคติว่าเขาจะต้องพยายามช่วยตัวเองจนกว่าจะหมดความสามารถ ในเมื่อเขาหมดความสามารถแล้ว เขาจึงจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น นี่เขาอบรมกันอย่างนี้

ประการที่ ๒ ความพากเพียร ความพยายาม เขาอบรมให้ประชากรของเขามีความอุตสาหะวิริยะในการศึกษา ในการค้นคว้า ในการทำงาน ในการแสวงหาทรัพย์สมบัติเพื่อความมีหลักฐานมั่นคง โดยอาศัยหลักธรรมคือความเพียรเป็นจุดสำคัญ

ประการสุดท้ายคือ ความสามัคคี ความพร้อมเพรียงซึ่งกันและกัน อันนี้เขาถือเป็นหลักธรรมที่เขาจะต้องอบรมสั่งสอนกุลบุตร ลูกหลานของเขาให้ประพฤติปฏิบัติให้ได้โดยทั่วกัน เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง เกาหลีจึงมีความเจริญรุ่งเรืองรวดเร็วนัก อันนี้เป็นตัวอย่างของชาวต่างประเทศ ซึ่งได้ยินแล้วเอามาเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟัง อ่านต่อ...