วิธีสร้างพลังจิตปราบขันธมาร
ตอน 3

สิ่งที่เป็นอุปนิสัย คือสิ่งที่เป็นเองโดยอัตโนมัติ ที่เราฝึกหัดเสียจนคล่องตัว จนเป็นอุปนิสัยฝังแน่นอยู่ในสันดาน สิ่งที่เป็นอุปนิสัยที่สะสมอบรมบ่มเอาให้มากๆ เมื่อเพิ่มพูนขึ้น หนักแน่นลงไปเป็นวาสนาบารมี ในเมื่อถึงขั้นแห่งอุปนิสัยวาสนาบารมี คุณงามความดีที่เราทำมาแล้ว ไม่ต้องนึกก็ได้ นึกถึงก็ได้ มันมีอยู่ในจิตของเราตลอดเวลา เวลาใกล้จะตาย ไม่ต้องตั้งใจภาวนา ไม่ต้องตั้งใจนึกถึง เพราะสิ่งที่เป็นอุปนิสัยวาสนาบารมีนั้น มันมีอยู่แล้วในจิตของเรา เมื่อถึงคราวจำเป็นเมื่อไร เมื่อถึงคราวเหตุร้ายเมื่อไร อุปนิสัยวาสนาบารมีนั้นจะวิ่งขึ้นมาช่วย ช่วยจิตช่วยใจของเรา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงให้เราฝึกหัดดัดนิสัยให้คล่องตัวต่อการทำความดี ฝึกหัดดัดนิสัยให้คล่องตัวต่อการละความชั่วคือความบาป หน้าที่ของผู้ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบวช หน้าที่โดยตรงก็คือพยายามละความชั่ว เริ่มต้นตั้งแต่ตั้งใจละโดยเจตนา ฝึกฝนจนกระทั่งเป็นนิสัยที่เคยชินต่อการละ นิสัยที่เคยชินเพิ่มพลังงานขึ้น กลายเป็นอุปนิสัยเป็นวาสนาบารมี

“กัมมัง สัตเต วิภชติ” พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปต่างๆ กัน ทุกคนมีความปรารถนาดี มีความต้องการดี แต่ทำดีไม่ได้ เพราะอุปนิสัยวาสนาบารมีของเราเคยสร้างแต่ความไม่ดีมา บางคนสามารถที่จะสร้างความดี ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้อย่างคล่องตัวและชำนิชำนาญโดยไม่เป็นภาระอันใดให้ผู้อื่นต้องลากจูง นั่นเป็นเพราะวาสนาบารมีของเก่าของเขามาสนับสนุน ความเป็นไปต่างๆ ของสัตว์ทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ รู้ชาติในอดีตของพระองค์ได้ และรู้จุตูปปาตญาณ รู้การจุติและเกิดของสัตว์ทั้งหลายได้ รู้กัมมัสสกตาญาณ รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกฎของกรรม ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับสังคมและบุคคล พระพุทธเจ้าท่านก็พยายามสอนแต่บุคคลผู้ที่ท่านสอนได้ ผู้ที่ท่านสอนไม่ได้คือท่านเทวทัต ท่านก็ปล่อยไปตามบุญตามกรรม ถึงแม้ว่าปล่อยตามบุญตามกรรม พระองค์ท่านก็ยังไม่ขาดเมตตา ลองคิดดูซิ พระมหากรุณาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อท่านเทวทัต ท่านเทวทัตขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฏ คิดจะทำร้ายพระพุทธเจ้า กลิ้งก้อนหินลงมาหมายจะให้ทับพระพุทธเจ้าให้แหลกละเอียดเป็นจุณ พระองค์ทรงพิจารณาดูวาระจิตของท่านเทวทัตทราบว่า ถ้าเทวทัตไม่ได้ทำร้ายเราแม้แต่นิดหน่อย เพระเทวทัตจะอกแตกตาย จะหมดโอกาสที่จะได้กลับเนื้อกลับตัว เมื่อก้อนหินแตกเศษหินกระเด็นมา พระองค์ยื่นพระบาทไปรองรับให้สะเก็ดหินที่พระเทวทัตโยนลงมานั้นถูกหลังพระบาท ห้อพระโลหิตขึ้นนิดหน่อย พระเทวทัตก็ดีใจว่า เราได้ทำร้ายพระพุทธเจ้าสมประสงค์ แม้ไม่ตายก็ยังดี แล้วก็ยังมีชีวิตต่อไป จนกระทั่งหนักๆ เข้าก็พาลูกศิษย์ลูกหาหนีไปจากพระพุทธเจ้า จะไปตั้งศาสนาใหม่ แต่เสร็จแล้วไปๆ มาๆ เพราะท่านเทวทัตทำอนันตริยกรรม จิตที่เคยเป็นสมาธิได้ฌานสมาบัติเหาะเหินเดินอากาศได้ ก็ทำให้เสื่อมสูญจากคุณงามความดี ทำอนันตริยกรรมศีลก็ขาด สมาธิก็เสื่อมสูญ อิทธิฤทธิ์ก็พังทลาย เมื่อก่อนเทวทัตจะไปไหนมาไหนเหาะเหินเดินอากาศ หลังจากทำอนันตริยกรรมคุณธรรมเสื่อมไปแล้ว จะไปที่ไหนก็มีแต่เดินต๊อก ๆ ๆ ตากแดด เหาะไปไม่ได้เหมือนอย่างก่อน

ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ท่านจะทำกรรมอะไรที่ท่านอดทนไม่ได้ทำไปเถอะ ขออย่างเดียวอย่าไปเผลอทำอนันตริยกรรมก็แล้วกัน อนันตริยกรรมนั้น ถ้าทำลงไปแล้วเสื่อมจากมรรคผลนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานปาราชิกคือผู้พ่ายแพ้ในพระพุทธศาสนา อย่าทำ มันบาปหนัก

๑. ฆ่าบิดา
๒. ฆ่ามารดา
๓. ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต
๔. ฆ่าพระอรหันต์
๕. ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน

ระวังนะ เวลาพระวัดใดวัดหนึ่งขัดผลประโยชน์กัน แตกสามัคคีกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน ญาติโยมอย่าไปสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เดี๋ยวจะกลายเป็นอนันตริยกรรมไม่รู้ตัว เช่นอย่างหลวงพ่อวัดใต้ หลวงพ่อวัดเหนือ ต่างก็มีญาติมีโยมกันเยอะแยะ ขัดผลประโยชน์กันแล้วก็ทะเลาะกัน ต่างคนต่างก็มีลูกศิษย์ทั้งพระทั้งโยม แตกกันเป็นพรรคเป็นพวก ยกพวกขึ้นมารบกัน ถ้าพระสงฆ์แตกสามัคคีกันเป็นกลุ่มตั้งแต่ฝ่ายละ ๔ รูปขึ้นไป นั่นเป็นสังฆเภท ในเมื่อสังฆเภทแล้วก็เป็นอนันตริยกรรม ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน บาปนักบาปหนา เพราะฉะนั้น การทำบาปทำกรรมให้ระวังอนันตริยกรรมให้มากๆ การทำบาปอย่างอื่น เช่น ฆ่ามนุษย์เป็นต้น แต่ไม่ใช่พ่อไม่ใช่แม่ของเรา ไม่ใช่บุคคลดังกล่าวมาใน ๕ อย่างนั้น ยังมีโอกาสได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เช่น องคุลีมาลฆ่าคนที่นับได้ ๙๙๙ คน พอมาพบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม ได้อุปสมบทเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาให้บริบูรณ์สมบูรณ์ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวน ๘๐ องค์ เพราะฉะนั้น ไม่เป็นไรลืมเสียเถิด บาปกรรมอย่างใดที่เราทำมาแล้ว ยกเว้นอนันตริยกรรม ถ้าสงสัยข้องใจว่าเราจะเป็นบาปเป็นกรรม จะปิดทางมรรคผลนิพพาน ให้พยายามข่มจิตข่มใจ อย่าได้ไประลึกถึงมันเป็นอันขาด ถ้ามันอดระลึกถึงไม่ได้ ก็ให้หมั่นระลึกถึงพระพุทธเจ้า คือพุทโธ ๆ ๆ ให้มาก ๆ จนมันลืมความหลัง แล้วจิตก็มาจดจ้องอยู่ที่พระพุทธเจ้า คือพุทโธ มันก็ไม่นึกถึงบาปเก่าแก่ที่ผ่านมาแล้ว จิตมันไม่ได้ไปกังวลกับบาปในอดีต

การนึกถึงพุทโธเป็นพุทธานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า เรื่องนึกถึงก็เป็นบุญ แม้จิตจะไม่สงบก็ตาม เพราะฉะนั้น การทำสมาธิภาวนาในเบื้องต้นนี่ ต้องพยายามเอาสมาธิให้ได้ แม้แต่เพียงอุปจารสมาธิก็ยังดี หลวงปู่สิงห์ใหญ่ท่านกล่าวว่า ปลุกใจเพื่อปราบมาร คาถาปลุกใจก็คือพุทโธ ๆ ๆ ทีนี้มารนี่ ตัวขันธมารนี่เป็นตัวสำคัญ ขันธมารก็คือร่างกายของเรานั่นแหละ นั่งไปนานมันปวดมันเมื่อยมันเจ็บ เมื่อมันปวดเมื่อยเจ็บขึ้นมาแล้ว ตัวกิเลสมารมันก็เข้ามาแทรกคือ “อรติ” ความไม่ยินดีต่อการปฏิบัติ ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น มันกลัวตายถ้าปฏิบัติมากไป มันปวดหลาย เดี๋ยวแข้งขาจะมึนชาไปหมดจะกลายเป็นง่อยเป็นเปลี้ย เลยปฏิบัติต่อไปไม่ได้ถูกกิเลสมารมันทำลาย ทีนี้เวลาขันธมารมันแสดงฤทธิ์ขึ้นมา ถ้ายิ่งในขณะใดที่เราภาวนาพุทโธ ๆ ๆ จิตมันใกล้จะสงบนั่นแหละ ขันธมารมันจะแสดงตัวให้ปรากฏทันที ความเจ็บปวดความปวดเมื่อยมันก็เกิดขึ้นมาก ประเดี๋ยวปวดต้นคอ ประเดี๋ยวปวดหัว ประเดี๋ยวปวดตา ระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ระหว่างที่จิตมันจะเข้าสู่สมาธิตัดขาดจากร่างกายนี่แหละ อุปสรรคอันนี้ มันจะบังเกิดขึ้น แหม! มันอึดอัดรำคาญเหลือทน อยากจะกระโดดโลดเต้น ทีนี้ถ้าตอนนี้นักภาวนาท่านใดอดทนพยายามเอาชนะมันให้ได้ โดยไม่ยอมแพ้มันง่ายๆ ต่อสู้กับมันจนสุดวิสัยจะสู้ได้จึงค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ ฝึกหัดอดทนบ่อย ๆ ทนไม่ได้ก็ทน ทนได้ก็ทน จนเกิดความคล่องตัวจนชำนิชำนาญ จนกระทั่งว่าเรานั่งตลอดวันยังค่ำไม่พลิก ไม่เปลี่ยนอิริยาบถได้ แล้วภายหลังมันจะต่อสู้กับมันได้ ในเมื่อผ่านขั้นนี้ตอนนี้ไปแล้ว ต่อไปการภาวนาจะสะดวกสบายมาก

ทำไมขันธมารมันจึงแสดงออกมาให้ปรากฏ และกิเลสมารก็มาย้ำเข้าไปอีก กิเลสทั้งหลายนี่มันกลัวเราจะหนีจากมัน เพราะฉะนั้น มันจึงแสดงฤทธิ์มาขัดขวางเรา เราจะต้องปราบมันด้วยความอดทน ด้วยความอดกลั้น ด้วยความทนทาน ด้วยความมีสติสัมปชัญญะ จนกระทั่งจิตเข้าสู่สมาธิ กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ แถมมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง นั่นแหละเราจึงจะปราบขันธมารให้ผ่านพ้นไปได้ นี่ต้องพยายามเอาตรงนี้ให้ได้ ถ้าหากตราบใดเราเอาสมาธิในขั้นต้นนี้ไม่ได้แล้ว เราพูดไม่รู้ภาษากันหรอก อย่ามัวแต่ว่าฉันก็เก่งเธอก็เก่ง พอหันหน้าเข้ามาแล้วทะเลาะโต้เถียงกันอุตลุด เพราะฉะนั้น ใครยึดหลักการปฏิบัติแบบไหน อย่างไร ก็ให้มันแน่วแน่ พุทโธก็พุทโธไป ยุบหนอพองหนอก็ยุบหนอพองหนอไป สัมมาอรหังก็สัมมาอรหังไป วิธีการปฏิบัติไม่มีเฉพาะแค่ ๓ อย่างที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น บางทีถ้าขี้เกียจนึก เราอาจจะนั่งหลับตา ทำใจให้มันอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องตั้งใจไปคิดมัน แต่ถ้ามันคิดแล้วกำหนดสติรู้ทันที คิดแล้วรู้ทันที ๆ ๆ ไล่ตามมันไปอย่างนี้ มันก็สบายดีเหมือนกัน ลองดูซิว่ามันจะเข้าไปสู่สมาธิได้หรือเปล่า อ่านต่อ...