การปรับปรุงสภาวธรรมของตน
ตอน 3

ชาวพุทธเราทั้งหลาย เราอบรมสั่งสอนกันว่าเป็นผู้ใหญ่ต้องมีพรหมวิหาร การแผ่เมตตานี้ท่านว่าจงแผ่เมตตาด้วยกาย ด้วยวาจา แผ่เมตตาด้วยใจ การแผ่เมตตาด้วยกาย คือ ช่วยขวนขวายเป็นกิจธุระเรื่องของกาย การแผ่เมตตาด้วยวาจาหมายถึงการพูด เช่น เป็นครูอาจารย์สั่งสอนนักเรียน ท่านผู้ใดก็ตามมีหน้าที่เป็นครูสอน เวลาที่ท่านสอนท่านคิดว่าท่านแผ่เมตตาให้เด็กๆ ท่านก็จะได้บุญเป็นเครื่องตอบแทน อันนี้เป็นหลักธรรม หลักธรรมอันนี้นอกจากจะเป็นหลักธรรมของผู้ใหญ่ ธรรมที่ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ของคนได้เป็นพระพรหมขึ้นมา ปกติแล้ว โดยสัญชาตญาณของพ่อแม่ ต้องมีพรหมวิหาร ๔ ประจำใจ เพราะฉะนั้น พ่อแม่จึงได้ชื่อว่าเป็นพระพรหมของบุตร

พ่อแม่เป็นพระพรหมของบุตรแล้วยังเป็นพระอรหันต์ของลูกด้วย ทำไมจึงว่าพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก พ่อแม่มีความรัก ความเมตตา ปรารถนาดีต่อลูกๆ โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ส่วนมากพ่อแม่ที่มีอันจะกินพอสมควรคงจะไม่คิดที่จะให้ลูกของตนขนข้าวของเงินทองมาให้มากมายก่ายกอง มีแต่หวังที่จะให้ลูกๆ มีความสุขเท่านั้น เข้าใจว่าผู้เป็นพ่อเป็นแม่ทั้งหลายจะมีความรู้สึกเช่นนั้น แต่ก็พอจะรู้ว่าความปรารถนาของพ่อแม่ทุกคนคือต้องการให้ลูกเป็นคนมีน้ำใจ เพราะฉะนั้นใครจะทุกข์ยากลำบากสักเพียงใดก็ตาม ถ้าไปอยู่ห่างพ่อและห่างแม่ คิดว่ายังไม่รวย จะไปเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ก็ไม่มีอะไรไปฝาก กลัวท่านจะว่า อย่าคิดอย่างนั้น พ่อแม่ของเราหวังความมีน้ำใจจากลูกเท่านั้น ไม่หวังในวัตถุสิ่งของ การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายต้องทำความเข้าใจ

พูดกันถึงว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ละความชั่ว ประพฤติความดี การละความชั่ว จะละที่ไหน และถืออะไรเป็นหลักเกณฑ์ การละความชั่ว ถ้าตั้งใจจะละกันจริงๆ พระพุทธเจ้าให้ยึดศีล ๕ ข้อ อันนี้คือหลักแห่งการละความชั่ว คนโบราณมักจะเตือนเด็กๆ ว่า "อย่าคิดชั่ว อย่าคิดชั่ว" คำว่าอย่าคิดชั่วนี่ เมื่อฟังแล้วรู้สึกจะหนักใจ เพราะอารมณ์ความคิดออกจะเป็นเรื่องอัตโนมัติ ห้ามกันไม่ได้ เมื่อนำมาพิจารณาดูแล้วพบว่า คำว่า "อย่าคิดชั่ว" เดิมทีเดียวผู้ที่บัญญัติคำนี้ เข้าใจว่าจะบัญญัติไว้ว่า "อย่าคิดทำความชั่ว" เข้าใจว่าจะเป็นคำนี้ เรื่องจะไปห้ามความคิดไม่ให้คิดชั่วนี้ไม่มีทาง ผู้บรรยายบวชมาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี ปัจจุบันอายุ ๖๑ ปี จะพยายามห้ามใจไม่ให้คิดชั่ว พยายามเท่าใดก็ห้ามไม่ได้ เพราะความดีก็ดี ความชั่วก็ดี มันเป็นอารมณ์เครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ความคิดนี้เป็นอัตโนมัติ เช่น ในบางครั้งบางคราวเกิดมีเรื่องกลุ้มอกกลุ้มใจ ความคิดมันสับสนวุ่นวาย เราเกลียดเหลือเกินความคิดที่สับสนวุ่นวาย ไม่อยากคิด แต่แล้วมันห้ามไม่ได้ ยิ่งคิดมันก็ยิ่งกลุ้ม ทำไมมันห้ามไม่ได้ เพราะความคิดเป็นอัตโนมัติเพราะฉะนั้น ขอทำความเข้าใจว่า คำว่า "อย่าคิดชั่ว" เปลี่ยนเป็นว่า "อย่าคิดทำความชั่ว" จะดีกว่า เช่น อยากจะฆ่าคนสักคนหนึ่ง ท่านห้ามความคิดนั้นไม่ได้ ท่านห้ามได้แต่การกระทำ คิดว่าจะด่าคนๆ นี้ ท่านห้ามความคิดไม่ได้ ท่านห้ามได้แต่การด่า อันนี้คือกิเลสที่จะพึงละได้ อย่างพระคุณเจ้าสอนไว้ว่า "พระคุณเจ้าอย่าไปสอนให้คนละกิเลส ถ้าท่านสอนคนให้ละกิเลสแล้ว ท่านสอนศาสนาผิด" เมื่อเรานำมาพิจารณาจะพบว่า ถ้าหากพระท่านมาสอนให้ละความโลภ ละความโกรธ ความหลง แล้วไม่ให้หลักการแก่เรา บอกให้เราละอย่างเดียว จะละได้อย่างไรเมื่อท่านไม่สอนให้มีหลักการที่ทำจิตให้มีพลังอานุภาพที่ผลักดันกิเลสออกไปจากเรา

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

การละกิเลสโดยทั่วไป ถ้าใครจะสมัครใจละในเบื้องต้นนี้ จะละได้เฉพาะกิเลสทางกายและกิเลสทางวาจาเท่านั้น ในเบื้องต้นนี้ พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ให้มีศีล ๕ เป็นข้อปฏิบัติในการละกิเลส เว้นจากการฆ่า เว้นจากการเบียดเบียน เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากมุสาวาท เว้นจากการดื่มของมึนเมาหรือมัวเมาในสิ่งที่เราถือว่ามันเป็นของดีจนเกินไป นี่คือกิเลสที่เราพึงจะละได้ คือละด้วยการไม่ทำ ละด้วยการไม่พูด แต่ด้านจิตใจเอาไว้ก่อน

เมื่อเป็นเช่นนั้นเราทำอย่างไร ในใจเราละไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ซึ้ง เราจะรู้ว่ากิเลสคืออะไร เราต้องทำสมาธิ การทำสมาธิหมายถึงการเอาอารมณ์อย่างหนึ่งเป็นอะไรก็ได้ ให้ใจมันนึกอยู่กับสิ่งนั้นๆ เพียงสิ่งเดียว จนสามารถติดอยู่กับสิ่งนั้นอย่างเหนียวแน่น เมื่อให้จิตมันแยกออกจากสิ่งที่คิดวุ่นวายมากๆ นั้นไปพักหนึ่ง พอเข้าไปสู่ความสงบ พอจิตเข้าไปสู่สิ่งๆ เดียวอย่างแน่วแน่ เราจะรู้สึกว่าเมื่อจิตของเรายึดอยู่กับสิ่งๆ เดียวมันสบาย มันไม่วุ่นวาย เหมือนๆ กับคนเราถือของหลายสิ่งหลายอย่าง ไหนจะต้องหนัก จะต้องหอบหิ้วจะต้องถือ แต่ถ้าถือเพียงอย่างเดียวก็สะดวกและเบาด้วย ข้อเปรียบเทียบนี้ก็เปรียบได้กับว่า เมื่อเราสามารถแยกจิตออกจากสิ่งที่เราคิดวุ่นวายอยู่ได้แล้ว เอาไปอยู่กับสิ่งๆ เดียว เป็นอุบายที่เราสามารถทำจิตของเราให้เบาอยู่ได้พักหนึ่ง

เมื่อจิตของเราไปยึดอยู่กับสิ่งๆ เดียว จะเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นพุทโธ ธัมโม สังโฆ ยุบหนอ พองหนอ สัมมาอรหัง หรืออัฐิ ตับ ไต ไส้ พุง แล้วแต่ใครจะนึก ในเมื่อมันไปอยู่กับสิ่งๆ เดียวเช่นนั้น มันเบา มันสบาย มันไม่วุ่นวาย เมื่อยึดมั่นอยู่กับสิ่งๆ เดียวนี้อย่างเหนียวแน่น เมื่อมีอารมณ์อะไรกระทบเข้ามาจะทำให้เราโกรธ แทนที่จะวุ่นวายกับสิ่งนั้น จิตจะวิ่งเข้าหาสิ่งที่มันยึดอยู่ก่อนเป็นบางครั้ง ท่านอาจจะเคยสอนให้เราภาวนาพุทโธๆๆ ภายหลังเรามาบอกว่า หนูภาวนาพุทโธๆๆ แล้วจิตไม่สว่างสงบเหมือนอย่างหลวงพ่อว่า แต่มันมีแปลกอยู่อย่างหนึ่ง พอกระทบอะไรแล้ว จิตมันจะไม่ไปยุ่งกับสิ่งนั้นจะวิ่งเข้าหาพุทโธ แล้วมันก็จ้องอยู่กับพุทโธอย่างนั้น แล้วมันก็ไม่เกิดโกรธเกิดอะไรขึ้นมา บางครั้งมีคนไข้มาหา พอจับหูฟังจิตมันก็จะวูบไปอยู่กับคนไข้ และเกิดภูมิรู้ขึ้นมาว่าเขาเป็นโรคอย่างนั้น ต้องให้ยาอย่างนั้น นี่คือผลของสมาธิที่ฝึกอยู่กับสิ่งๆ เดียว จะเป็นอะไรก็ได้ แม้ว่าจิตไม่สงบสว่างตามหลักวิชาการที่ท่านบอกไว้ก็ตาม ยังเห็นผลได้ขนาดนี้ เพราะฉะนั้น ใครต้องการความสุขเฉพาะทางด้านจิตใจ ควรจะหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นที่อยู่ในใจ จะเป็นอะไรก็ได้ แม้ว่าท่านจะเอาคนที่ท่านรักและเคารพมากที่สุดมานึกไว้ในใจ คือนึกถึงชื่อของเขา แล้วมันจะเป็นอุบายให้สงบจิตได้เหมือนกัน

ในตอนแรกๆ จิตของเราจะมายึดอยู่กับสิ่งเดียวอย่างเหนียวแน่น หนักๆ เข้าจิตจะมีอาการสงบลงไป และจะเลิกนึกถึงสิ่งที่นึกอยู่นั้น สงบ นิ่ง สว่าง รู้อย่างเดียว ในจุดนี้จะสามารถทำให้ท่านรู้จักว่าภายในจิตของท่านเมื่อไม่รู้นั้นเป็นอย่างไร เมื่อท่านรู้สภาพเดิมของจิตว่ามันเป็นอย่างไร มันว่างจากอารมณ์ เมื่อมันไม่มีความคิด มันมีปีติ เมื่อมันมีสุขแล้วมันมีความรู้สึกอย่างไร ท่านก็จะรู้ได้ทันที อันนี้เป็นเหตุให้รู้จักสภาวะความเป็นจริงของจิตของเราว่ามันเป็นอย่างไร และเมื่อจิตของเราเปลี่ยนจากสภาวะความเป็นอย่างนั้นแล้วออกมารับรู้อารมณ์ จะมีความรู้สึกอย่างไร ในเมื่อเราจับจุด ๒ จุดนี้ได้ ภายหลังมาเราจะฝึกจิตของเราให้เป็นอย่างไรก็สามารถที่จะฝึกได้ เพราะเราจับได้แล้วว่าจิตคืออะไร ที่เราภาวนาไม่เป็นหรือจับจุดแห่งการภาวนาไม่ได้ เพราะเราไม่รู้จักว่าจิตเดิมแท้จริงของเราคืออะไร และไม่รู้ว่าเมื่อจิตเดิมแท้ของเราปรากฏชัดขึ้นมาแล้วเรามีความรู้สึกอย่างไร เมื่อมันรับรู้อารมณ์มีความรู้สึกอย่างไร

เพียงแต่ท่านหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดมานึกไว้ที่จิตของท่านเท่านั้น นอกจากความสงบ นอกจากความรู้จริงภายในจิตใจของท่านจะปรากฏขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ท่านจะพึงได้ก็คือตัวสติสัมปชัญญะ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะดีแล้ว จิตจะไม่สงบถึงขนาดได้ฌานที่ ๑-๒-๓-๔ หรือถึงขนาดได้ฌานสมาบัติ ๘ ก็ตามที เอากันแต่เพียงความมีสติรู้เท่าทันความนึกคิดและกิริยาที่เราแสดง กิน ดื่ม นั่ง นอน ทำให้สติตัวนี้มันตามทันทุกขณะที่มีการเคลื่อนไหวทั้งกายและใจ คนเราที่หลงทำความชั่ว ท่านว่าเป็นคนประมาทเพราะขาดสติ คนที่ไม่ทำความชั่ว เป็นคนไม่ประมาทเพราะมีสติ การศึกษาปฏิบัติธรรม จุดมุ่งหมายก็เพื่อความมีสติ

ฉะนั้น การภาวนา บางท่านภาวนาแล้วอาจจะรู้เรื่องภายนอก สามารถที่จะมองเห็นได้แม้กระทั่งจิตใจของคน ใครเป็นโรคอะไรอยู่ภายในก็รู้ได้ แล้วสามารถช่วยรักษาให้เขาหายโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วย แต่บางท่านก็ช่วยได้แต่คนอื่น ส่วนปัญหาชีวิตประจำวันของเรานี่มันยังมีทุกข์มีความวุ่นวาย เราไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตประจำวันของเราได้ แม้ว่าเราจะสามารถรู้สิ่งภายนอกได้ดีวิเศษสักเท่าใดก็ตาม อย่างดีก็เป็นเพียงแต่อุปกรณ์การยังชีพ แต่หาแก้ปัญหาทุกข์ยากลำบากในจิตใจเราได้ไม่ ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเรานี้มีความมุ่งหมายเพื่อ

๑. ให้จิตปล่อยวางจากอารมณ์ที่วุ่นวายแล้วไปรวมอยู่ในจุดเดียว
๒. ให้จิตใจของเราตั้งมั่นต่อการกระทำความดี หมายถึง ความดีทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นความดีไม่เฉพาะแต่จะมานั่งหลับตาภาวนาอย่างเดียว อะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนแก่ท่าน อันนั้นได้ชื่อว่าความดีหมด
๓. ให้รู้จักสภาพความเป็นจริงของจิต เพื่อเราจะได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ในกาลต่อไป อ่านต่อ...