หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ธุรกรรมปริศนา พระสมเด็จเหนือหัว 5 สี

พระสมเด็จเหนือหัว

หลังปรากฏการณ์เทวาหมื่นล้าน “จตุคามรามเทพ” สร้างกระแสความนิยมวัตถุมงคลอย่างมืดฟ้ามัวดินชนิดไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย อัดฉีดเม็ดเงินเข้าอุตสาหกรรมพระเครื่องไม่น้อยกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดผู้จัดสร้างกลุ่มหนึ่งได้จัดสร้างพระสมเด็จ ภายใต้ชื่อ “พระสมเด็จเหนือหัว” ในนาม “มูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดสุทัศนเทพ วราราม โดยอ้างว่านำรายได้ไปสร้างอุโบสถ ร่วมเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศล ในปีมหามงคล 80 พรรษา พร้อมปั่นกระแสศรัทธาด้วยการโหมประชาสัมพันธ์ กระพือโฆษณาผ่านสื่อทุกแขนง ส่งผลให้มีผู้สนใจสั่งจองเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันคำถามของบรรดาคนรักพระเครื่องก็ดังระงมไปทั่วทั้งในเว็บไซต์และย่านแผงพระ...

หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า พระรุ่นนี้มีความเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไร เพราะโฆษณาหนักจนเข้าข่ายพุทธพาณิชย์ ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยระบุว่าได้สั่งจองพระรุ่นนี้ด้วยความเข้าใจว่า มีความเกี่ยวเนื่องกับสำนักพระราชวัง เพราะการตั้งชื่อรุ่นและใช้ถ้อยคำโฆษณาทำให้เข้าใจว่าเกี่ยวโยงกับราชสำนัก

เรื่องราวเพิ่มดีกรีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อสำนักพระราชวังออกมาปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดทำพระรุ่นนี้ ขณะที่มูลนิธิได้ระบุว่า แม้จะเป็นต้นเรื่อง แต่กระบวนการจัดสร้างทั้งหมดก็มีกลุ่มฆราวาสเข้ามารับช่วงไปทำต่อ รวมทั้งจากการลงพื้นที่สอบสวนรายละเอียดการจัดสร้างเบื้องต้นของกรมการศาสนา และกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่า อาจเข้าข่ายเป็นคดีฉ้อโกงประชาชน

ปริศนาเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร...เป็นสิ่งที่ต้องติดตามด้วยใจระทึก!!!

พระสมเด็จเหนือหัว

ถอดรหัสปริศนา “สมเด็จ 5 สี”

เรื่องราวอันน่าติดตามของการจัดสร้าง “พระสมเด็จเหนือหัว” ที่แฝงไปด้วยความไม่ชอบมาพากลหลายประการ เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

เมื่อมีโฆษณาผุดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับโดยระบุว่า มูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศรับบริจาค “ผงพุทธคุณ” จากพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ อาทิ ผงธูป บูชาพระพุทธรูปในบ้าน ดอกไม้บูชาพระ พระผงที่แตกหัก เพื่อนำมาสร้าง “พระสมเด็จ” มอบให้แก่ ผู้ร่วมบริจาคในโครงการก่อสร้างอุโบสถสองกษัตริย์ ที่ต้องใช้ทุนทรัพย์ประเดิมกว่า 100 ล้านบาท ที่วัด โสดาประดิษฐาราม อ.เมือง จ.ราชบุรี ร่วมเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศล ในปีมหามงคล 80 พรรษา โดยให้ผู้สนใจส่งผงพุทธคุณพร้อมระบุชื่อ ที่อยู่ มาทางไปรษณีย์


จุดพลุอัดโฆษณาสื่อทุกแขนง

คล้อยหลังได้ไม่ถึง 1 เดือน ผู้จัดสร้างก็มีการโหมโฆษณาในสื่อทุกแขนง ทั้งสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณา แผ่นพับโบรชัวร์ ว่ามูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ได้รวบรวมผงพุทธคุณจากทั่วประเทศมาจัดสร้างเป็นพระผงสมเด็จภายใต้ชื่อ “พระสมเด็จเหนือหัว” พร้อมอ้างว่ามีมวลสารสำคัญคือ ดอกไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ และผ่านการปลุกเสกจากพระเถระ 770 อำเภอ ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดระฆังโฆษิตาราม โดยมีพระเกจิอาจารย์ 76 จังหวัด ประกอบพิธีสมโภชทั่วทั้ง 5 ภาค และ 5 พระอารามหลวง

ทั้งนี้ พระสมเด็จเหนือหัว มีลักษณะเป็นพระผงสมเด็จ ด้านหลังนำรูปมงกุฎมาประทับไว้ โดยถูกสร้างออกมาทั้งสิ้น 5 สี แบ่งตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ คือ “สีขาว” ของชาวกรุงเทพฯ และภาคกลาง “สีเหลือง” ของภาคเหนือ “สีเขียว” ของภาคอีสาน “สีชมพู” ของภาคตะวันออก และ “สีฟ้า” ของภาคใต้ สนนราคาเช่าบูชาองค์ละ 999 บาท

พระสมเด็จเหนือหัว มีให้เช่าตามไปรษณีย์และธนาคารทั่วประเทศ หากสนใจเช่าเป็นชุดทั้งหมด 5 สี สนนราคาจะอยู่ที่ 4,999 บาทต่อชุด

ที่ต้องสังเกตเป็นพิเศษคือ การอัดเงินมหาศาลโฆษณาในทุกสื่อเพื่อทำการตลาดนั้น จะพบว่า การสร้างพระสมเด็จเหนือหัว 5 สี ไม่มีการระบุจำนวนการสร้าง และจำนวนที่ออกมาให้ประชาชนเช่าซื้อ

ซึ่งหากต้องการเงิน 100 ล้านบาท ให้กับการสร้างอุโบสถสองกษัตริย์ตามคำโฆษณา จะต้องจัดสร้างประมาณ 1 แสนองค์

มีคำถามว่า หากผู้จัดสร้างสร้างมากกว่า 1 แสนองค์ เงินที่ได้จากโครงการมหาพุทธพาณิชย์ ที่พยายามโฆษณาชวนให้เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูงนั้น เงินส่วนเกินนอกบัญชีจะตกหล่นอยู่ที่ใคร?

ทั้งยังมี “รุ่นพิเศษ” ที่ประทับรูปมงกุฎขนาดใหญ่ปิดทอง ที่ผู้จัดสร้างโฆษณาว่า สร้างเพียง 500 ชุดต่อภูมิภาค ซึ่งจากการสอบถามไปยังผู้จัดสร้างตามเบอร์โทรศัพท์ในโฆษณาก็พบว่า รุ่นพิเศษทั้งหมดได้ถูกสั่งจองไปหมดแล้ว

พิธีกรรม

เสียงกังขาดังระงม ‘ศน.-ดีเอสไอ’ ลุยสอบเอาผิด

การโหมโฆษณาพระรุ่นดังกล่าวอย่างหนัก ได้ก่อให้เกิดคำถามจากผู้สนใจพระเครื่องไปทั่วทั้งในเว็บไซต์และย่านธุรกิจแผงพระต่างๆ โดยประชาชนหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า พระรุ่นนี้มีความเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไร เพราะโหมโฆษณาอย่างหนักจนเข้าข่ายพุทธพาณิชย์ ขณะที่จำนวนไม่น้อยระบุว่าได้สั่งจองพระรุ่นนี้ด้วยความเข้าใจว่า มีความเกี่ยวเนื่องกับสำนักพระราชวัง และเมื่อ โพสต์ทูเดย์ สอบถามไปยังสำนักพระราชวัง ก็ได้รับความกระจ่างว่า สำนักพระราชวังไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดทำพระรุ่นนี้

ขณะที่ นายสด แดงเอียด อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) เปิดเผยว่า ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ได้ขอให้ ศน. เร่งตรวจสอบรายละเอียดการจัดสร้างพระรุ่นดังกล่าว เพราะเห็นว่ามีปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะการนำตรามงกุฎไปประทับด้านหลังองค์พระ รวมทั้งการตั้งชื่อว่า พระสมเด็จเหนือหัว ทำให้ประชาชนเกิดความ เข้าใจผิดว่า พระรุ่นนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับสำนักพระราชวัง

อย่างไรก็ตาม นายสด ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การจัดสร้างมีความไม่ชัดเจนหลายประการ เช่น ผู้จัดสร้างอ้างว่านำรายได้สร้างอุโบสถสองกษัตริย์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แต่กลับไม่มีการระบุว่าจะเริ่มก่อสร้างเมื่อไหร่ มีแผนการก่อสร้างอย่างไร รวมทั้งไม่มีการระบุรายชื่อคณะกรรมการผู้จัดสร้าง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะการจัดสร้างวัตถุมงคลส่วนใหญ่จะระบุรายชื่อกลุ่มผู้จัดสร้างอย่างชัดเจน

“การนำตรามงกุฎมาประทับบนองค์พระต้องขออนุญาตจากสำนักพระราชวัง ซึ่งหากผู้จัดสร้างไม่มีการขออนุญาต ก็ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย รวมทั้งการอ้างว่านำดอกไม้พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้เป็นมวลสาร ซึ่งหากผู้จัดสร้างไม่เคยขอพระราชทานดอกไม้เพื่อนำไปเป็นมวลสาร แล้วนำมาอ้างในโฆษณาก็ถือว่าผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน” อธิบดี ศน. ระบุ

เช่นเดียวกับกระทรวงยุติธรรม ที่มีคำสั่งให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบรายละเอียดการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัวอย่างเร่งด่วน ซึ่ง พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ดีเอสไอ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นคดีฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในมูลฐานความผิดตามกฎหมายฟอกเงินของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ยังชวนเชื่อ : ป้ายโฆษณาพระสมเด็จเหนือหัว 5 สี ยังคงติดอยู่ริมถนน หลังสำนักพระราชวังออกมาชี้แจงว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดสร้าง

เซียนพระปูด ‘เสี่ย อ.’ เจ้าโปรเจกต์

แม้จะไม่มีการระบุถึงชื่อกลุ่มผู้จัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัวเอาไว้ในโฆษณา แต่สำหรับบรรดาเซียนพระผู้คร่ำหวอดในวงการพระเครื่อง ต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “เสี่ย อ.” ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงการพระเครื่อง เนื่องจากเคยผุดอภิมหาโครงการในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง ด้วยการจัดสร้างพระจำนวนมากและปล่อยเช่าบูชาในราคาสูง พร้อมกับโหมโฆษณาอย่างหนัก จนฟันรายได้ไปแล้วเฉียดพันล้านบาท

เหล่าเซียนพระยังระบุอีกว่า เสี่ย อ. คนนี้เคยมีกรณีพิพาทกับวัดที่ร่วมจัดสร้างพระบางรุ่นมาแล้ว ในเรื่องของการแบ่งรายได้ ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักกว้างขวางในสังคมจากข่าวที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับนักร้องนักแสดงหนุ่มชื่อดัง

ด้านเจ้าของธุรกิจพระเครื่องรายหนึ่งให้ความเห็นว่า คนในแวดวงพระเครื่องทราบตั้งแต่แรกว่า เสี่ย อ. เป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการนี้ เพราะมีวิธีการใช้สื่อโฆษณาที่เป็นรูปแบบเฉพาะ คือเน้นโหมโฆษณาอย่างหนักในสื่อทุกแขนง ทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ และมีจำนวนโฆษณาถี่ยิบทุกวัน รวมทั้งจัดวางรูปแบบและใช้ถ้อยคำโฆษณาที่ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ อลังการ ตลอดจนการตั้งราคาเช่าบูชาพระเอาไว้สูงกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อสร้างจุดสนใจให้แก่ประชาชน

ซึ่งการจัดสร้างครั้งนี้ ผู้สร้างจับจุดความศรัทธาของคนไทยในปัจจุบัน จึงพยายามออกแบบพระเครื่องและสร้างคอนเซปต์ชื่อรุ่น ตลอดจนมวลสารและวัตถุประสงค์ในการสร้างให้สอดคล้อง ซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างเม็ดเงินได้จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

พิธีกรรม

แฉแผนอภิมหาโครงการ เชื่อฟันรายได้เละ

วิธีการดำเนินธุรกิจการจัดสร้างพระเครื่องในลักษณะนี้จะเริ่มตั้งแต่ ผู้จัดสร้างเข้าไปติดต่อวัดที่ต้องการสร้างถาวรวัตถุ เช่น อุโบสถ ศาลา อาคารต่างๆ โดยขอใช้ชื่อวัดเพื่อจัดสร้างวัตถุมงคล และจะนำเงินที่ได้มาก่อสร้างถาวรวัตถุตามที่วัดต้องการ จากนั้นก็จะจัดการออกแบบวัตถุมงคล วางแผนการโฆษณา นิมนต์พระเกจิอาจารย์จากวัดชื่อดังมาร่วมปลุกเสก ในพิธีที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างความสนใจให้ประชาชน จากนั้นจึงนำวัตถุมงคลออกจำหน่ายตามช่องทางต่างๆ

ซึ่งในกรณีพระสมเด็จเหนือหัวนั้น ผู้จัดสร้างได้จับมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงไทย ที่มีเครือข่ายสาขารวมกันไม่ต่ำกว่า 3 พันแห่งทั่วประเทศ

เพื่อใช้เป็นช่องทางกระจายวัตถุมงคลไปยังกลุ่มเป้าหมายชาวบ้านร้านตลาด

เมื่อปล่อยเช่าบูชาได้หมดแล้วจะนำเงินมาถวายวัดตามที่สัญญาไว้ เช่น สัญญาไว้ 100 ล้านบาท ก็จะถวาย 100 ล้านบาท แต่กลุ่มผู้จัดสร้างมักจะไม่สร้างวัตถุมงคลให้มีจำนวนเท่ากับเงินที่วัดต้องการ แต่มักสร้างในจำนวนที่มากกว่าเพื่อหากำไร เพราะรายได้ส่วนที่เหลือจากการถวายวัดแล้วก็จะเก็บเข้ากระเป๋าตัวเองได้ทั้งหมด เรียกได้ว่าสร้างรายได้จำนวนมหาศาล เพราะการจัดสร้างที่มีการโหมโฆษณาอย่างหนักมักมีประชาชนให้ความสนใจเช่า บูชาเป็นจำนวนมาก

เจ้าของธุรกิจพระเครื่องรายนี้ยังประเมินเอาไว้ว่า การสร้างพระสมเด็จเหนือหัว หากสร้างให้เท่ากับจำนวนเงินที่ต้องไปใช้สร้างอุโบสถตามที่โฆษณาไว้ 100 ล้านบาท จะต้องมียอดเช่าบูชาไม่น้อยกว่า 1 แสนองค์ขึ้นไป อย่างไรก็ตามเมื่อประเมินจากการใช้ช่องทางจำหน่ายและการโหมโฆษณาแล้ว เชื่อว่าการจัดสร้างครั้งนี้จะมีจำนวนมากกว่า 1 แสนองค์แน่นอน โดยหากสร้างถึง 1 ล้านองค์แล้วสามารถปล่อยเช่าได้หมด ผู้สร้างก็จะได้กำไรเฉียด 900 ล้านบาทเลยทีเดียว



วัดสุทัศน์โต้ไม่เจตนาสร้างความเข้าใจผิด

อย่างไรก็ตาม เมื่อโพสต์ทูเดย์สอบถามไปยังวัด สุทัศนเทพวราราม ก็ได้รับคำตอบจาก พระครูสุวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม หนึ่งในผู้ดูแลมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ว่า ทางมูลนิธิเป็นผู้อำนวยการจัดสร้างจริง แต่มิได้เจตนาหรือจงใจให้เกิดความเข้าใจผิด

พระครูสุวัฒน์ ยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น รุ่นพิมพ์พิเศษ “มงกุฎคู่” มีจุดประสงค์เพื่อเทิดทูนพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ซึ่งมิได้ระบุว่าเกี่ยวข้องกับทางสำนักพระราชวังในการเข้ามามีส่วนร่วมจัดสร้างแต่อย่างใด

“อาตมาได้อ่านข้อความต่างๆ บนโฆษณาดูแล้วก็ไม่เห็นว่าจะสับสนตรงไหน เพราะระบุไว้ชัดเจนว่า พระเครื่องรุ่นนี้สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ส่วนรูปแบบก็คล้ายกับพระสมเด็จวัดระฆังโดยทั่วไป เพราะมีการทำพิธีปลุกเสกที่นั่น” พระครูสุวัฒน์ ระบุ

พระครูสุวัฒน์ ยังบอกด้วยว่า วัตถุประสงค์ในการจัดสร้างก็เพื่อนำรายได้ไปสร้างอุโบสถ วัดโสดาประดิษฐาราม จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นของเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล ส่วนกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นนั้น พระครูสุวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเกิดจากการขัดแย้งทางผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ทำให้มีการสร้างกระแสปล่อยข่าวให้ประชาชนสับสนและรู้สึกหมิ่นเหม่ต่อราชสำนัก

“ช่วงนี้มีประชาชนสอบถามกันมาก แต่ถ้าอยากทราบรายละเอียดต้องถามเจ้าอาวาสเอง เพราะคณะผู้จัดสร้างเป็นผู้ติดต่อกับท่านโดยตรง” รอง เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามไปยังฆราวาสรายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ก็ได้รับการปฏิเสธที่จะตอบข้อซักถาม โดยให้เหตุผลว่า ทางมูลนิธิไม่มีส่วนรู้เห็นในรายละเอียดของกระบวนการผลิต ทราบเพียงว่า “บริษัท ไดมอนด์ ฮิลล์” ได้ส่งพนักงานเข้ามาติดต่อประสานงานกับทางมูลนิธิ ก่อนที่จะดำเนินการผลิตและปล่อยให้เช่าอยู่ในขณะนี้



ลูกศิษย์วัดยันรายได้ทุกบาทเก็บเข้ามูลนิธิ

ขณะเดียวกัน นายทวีพร อนุตรพงษ์สกุล สมาชิกสภาเขตพระนคร พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ และเป็นผู้นำพระสมเด็จเหนือหัวมาเปิดให้เช่าบูชา บนแผงพระข้างวัดสุทัศน์ ได้ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา พระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ ในฐานะประธานมูลนิธิ ได้พยายามติดต่อสื่อมวลชนเพื่ออธิบายเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงประสานงานไปยังเลขาธิการของท่านผู้หญิงบุตรี เพื่อชี้แจงแล้ว

“เราได้ติดต่อกับท่านผู้หญิงบุตรีผ่านเลขาฯ ท่านแล้ว ท่านก็ว่าไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นเพราะมีผู้ไม่หวังดีพยายามจ้องทำลาย โดยกล่าวหาว่าเราแอบอ้างสำนักพระราชวัง ทั้งที่จริงท่าน เจ้าอาวาสไม่เคยแอบอ้าง” นายทวีพร กล่าว

นายทวีพร กล่าวอีกว่า แม้พระวิสุทธาธิบดีจะเป็นประธานอำนวยการจัดสร้าง แต่ได้มอบหมายให้ทีมงานของบริษัท ไดมอนด์ ฮิลล์ เป็นผู้ออกแบบและพิมพ์โฆษณา ซึ่งเจ้าอาวาสไม่มีส่วนรู้เห็นในขั้นตอนดังกล่าว

ส่วนชื่อ สมเด็จเหนือหัว เจ้าอาวาสชี้แจงว่า เป็นชื่อของพระพุทธเจ้าปางหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่อย่างใด นอกจากนี้เงินทุกบาททุกสตางค์จากการเช่าพระจะนำเข้ามูลนิธิทั้งหมด เพื่อสร้างพระอุโบสถที่วัดบ้านเกิดของเจ้าอาวาส

ขณะที่มวลสารที่มีการอ้างว่าได้มาจากดอกไม้พระราชทานนั้น นายทวีพร กล่าวว่า เจ้าอาวาสได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานให้เป็นเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ในพระราชพิธีฉลองครองราชย์ 60 ปี ที่พระบรมมหาราชวัง จากนั้นจึงได้นำมาเป็นมวลสารจัดสร้างพระเครื่อง ส่วนจะมีการขออนุญาตแล้วหรือไม่นั้นต้องให้เจ้าอาวาสเป็นผู้ชี้แจงเอง

อย่างไรก็ตาม นายทวีพร แจ้งว่า ขณะนี้เจ้าอาวาสได้เดินทางไปประเทศจีนตามที่ฆราวาสได้นิมนต์ไป และจะกลับมาในวันที่ 20 ธ.ค. นี้ พร้อมจะชี้แจงด้วยตัวท่านเองให้ทราบโดยละเอียดอีกครั้ง

แม้ความจริงยังไม่กระจ่างชัดสำหรับเรื่องดังกล่าวเนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อมูลของหลายหน่วยงาน

แต่เบื้องต้นพอสะท้อนให้เห็นได้แล้วว่า การจัดสร้างครั้งนี้ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผู้จัดสร้างวัตถุมงคล นำ “กลยุทธ์การตลาด” มาผนวกกับกระแส “ความศรัทธา” จนเข้าขั้น “พุทธามาร์เก็ตติง” ที่มุ่งแต่จะสร้างรายได้จากการปั่นกระแสทุกรูปแบบ โดยไม่สนใจถึงผลลัพธ์ว่าจะทำให้ศรัทธาของคนในสังคมกับพุทธศาสนา ถอยห่างออกจากกันไปอีกมากน้อยเพียงไร

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "โพสต์ ทูเดย์"


ไปข้างบน
แลกเปลี่ยนความรู้ - แสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่นี่
ความเห็นท้ายข่าว: 
โดยคุณ: 

เชื่อมต่อฐานข้อมูลไม่ได้