หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

สดับรับฟังพระพุทธรูปพูดได้ที่เมืองเก่า “สุโขทัย”

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มรดกไทยและมรดกโลก



ผมเคยได้ยินได้ฟังมานานนมแล้วว่า ที่เมืองเก่าสุโขทัย อดีตราชธานีแห่งแรกแห่งสยามประเทศนั้น มีพระพุทธรูปที่น่าทึ่งและชวนฉงนอยู่ 1 องค์ นั่นก็คือ “พระพุทธรูปพูดได้” ซึ่งความสงสัยเกี่ยวกับองค์พระพุทธรูปพูดได้ของผมมันได้ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ยกให้องค์พระพุทธรูปพูดเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์

เมื่อเก็บความสงสัยไว้ไม่ไหวผมจึงออกเดินทางไปดับความสงสัยที่เมืองเก่าสุโขทัย หรือที่ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ที่เป็นทั้งมรดกโลกและเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันสำคัญของเมืองไทย ซึ่งแม้ว่าวันเวลาจะผ่านมากว่า 700 ปีแล้ว แต่ว่ารอยอดีตอันยิ่งใหญ่แห่งราชธานีสุโขทัย และร่องรอยแห่งความงดงามของดินแดนแห่งนี้ยังคงมีให้คนรุ่นหลังเห็นกันอยู่ทั่วไป

รอยอดีตอันงดงามแห่งสุโขทัย

ตามรอยอดีตอันรุ่งโรจน์ในกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย

สำหรับวัดวาอารามและสิ่งที่น่าสนใจในเมืองเก่าสุโขทัยนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตกำแพงเมืองสุโขทัย หรือในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งมีวัดวาอารามสำคัญมากมาย โดยวัดที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็น “วัดมหาธาตุ” อันเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสุโขทัย ที่ตั้งอยู่ใจกลางกำแพงเมือง

วัดมหาธาตุประกอบด้วยเจดีย์ประธาน อุโบสถ 1 หลัง วิหาร 10 หลัง มณฑป 8 องค์ ตระพังหรือสระน้ำ 4 แห่ง และเจดีย์รายกว่า 200 องค์ โดยมีเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรง “พุ่มข้าวบิณฑ์”หรือทรงดอกบัวตูม อันเป็นเจดีย์ที่ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัย ส่วนบริเวณรอบๆเจดีย์ประธานก็มีเจดีย์รายรอบอยู่อีก 8 องค์

เมื่อไปเที่ยวยังเมืองเก่าสุโขทัยแล้วมองจากด้านหน้าวัดมหาธาตุเข้าไปก็จะเห็นเสาศิลาแลงของวิหารที่ยังหลงเหลืออยู่ตั้งเรียงรายเป็นแถวนำสายตาสู่พระประธานองค์โตที่ประดิษฐานอยู่บนฐานที่ยกระดับสูงไปจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ส่วนที่ด้านหลังองค์พระประธานก็จะโดดเด่นไปด้วยองค์เจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูม นับเป็นองค์ประกอบแห่งความงามทางพุทธศิลป์ที่ดูเคร่งขรึมแต่ว่าก็แฝงไปด้วยความงดงามอ่อนช้อยไม่น้อยทีเดียว

นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า บริเวณลานวัดด้านหนึ่งของพระประธาน“ขอมดำดิน” เคยมาพบกับ“พระร่วง”และด้วยวาจาอันสิทธิ์ของพระร่วงทำให้ขอมกลายเป็นหินอยู่ ณ ที่ตรงนั้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกขององค์เจดีย์ประธานมีแท่นก่อด้วยศิลาแลง ที่ในอดีตเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระศรีศากยมุนี อันเป็นพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ ในกรุงเทพฯ

แสง-เงาบนเจดีย์เก่าแก่แห่งสุโขทัย

ถัดจากวัดมหาธาตุไปทางด้านทิศตะวันตก มีวัดเล็กๆที่น่าสนใจอยู่วัดหนึ่งนั่นก็คือ “วัดตระพังเงิน” ที่โดดเด่นไปด้วยโบสถ์กลางน้ำ ซึ่งโบสถ์แห่งนี้มีลักษณะที่แตกต่างไปจากโบสถ์ที่ทั่วไปก็คือ ตามปกติแล้วโบสถ์ทั่วไปจะมีใบเสมาเป็นเครื่องแสดงเขตสังฆกรรม แต่สำหรับโบสถ์ของวัดตระพังเงินนั้นไม่มีใบเสมา แต่ว่าได้มีการใช้สระน้ำเป็นเครื่องแสดงเขตสังฆกรรมแทน โดยเรียกว่า “อุทกสีมา” หรือ “นทีสีมา”

เช่นเดียวกันกับ วัดสระศรี ที่อยู่ไม่ไกลจากวัดตระพังเงินนัก วัดนี้มีโบสถ์ตั้งอยู่กลางสระน้ำตามคติอุทกสีมาเช่นเดียวกับวัดตระพังเงิน โดยโบสถ์นั้นเป็นโบสถ์ขนาดเล็ก ส่วนสระน้ำกลับมีขนาดใหญ่ ซึ่งมีชื่อว่า “ตระพังตระกวน” หรือ สระผักบุ้ง

ในส่วนจุดชวนชมอื่นของวัดสระศรีก็มี เจดีย์ประธานทรงลังกา ที่ด้านหน้าวิหารมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ สำหรับเสน่ห์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของวัดสระศรีก็คือ บรรยากาศยามอาทิตย์อัสดงที่ด้านหลังวัดสระศรีนั้นสวยงามมาก ถ้าวันไหนท้องฟ้าเป็นใจก็จะได้เห็นดวงอาทิตย์ลูกกลมแดง ค่อยๆเคลื่อนดวงคล้อยหายไปในขุนเขาที่อยู่ด้านหลัง โดยมีฉากหน้าเป็นเงามืดของเจดีย์ที่ยามส่องต้องกับสายน้ำในสระจะดูเรื่อเรืองขรึมขลังดีแท้

และเมื่อไปเที่ยวที่วัดสระศรีแล้ว ก็ไม่ควรพลาดการไปสักการะ “อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ที่อยู่ใกล้ๆกับสระน้ำของวัดสระศรี เพราะว่าคุณงามความดีที่พ่อขุนรามคำแหงได้สร้างไว้ให้กับลูกหลานคนไทยนั้นมากมายเหลือคณาจริงๆ

อาทิตย์อัสดงที่วัดสระศรี

จากวัดสระศรีผมไปเที่ยวต่อยังวัดศรีสวาย ซึ่งวัดนี้มีลักษณะแปลกกว่าวัดอื่นๆในเขตกำแพงเมืองเก่า คือเป็นวัดที่สร้างด้วยศิลปะแบบขอม มีองค์ปรางค์ 3 องค์ ตั้งตระหง่านที่หากสังเกตลวดลายปูนปั้นดีๆก็จะเห็นลวดลายปูนปั้นบางส่วนมีลายเหมือนเครื่องถ้วยแบบจีน

นอกจากนี้ที่วัดศรีสวายวัดยังมีทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ที่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อน แล้วได้ต่อเติมเป็นวัดในพุทธศาสนาในภายหลัง



เที่ยววัดศรีชุม สดับรับฟังพระพุทธรูปพูดได้

ของดีของเมืองเก่าสุโขทัยไม่ใช่มีแค่ในเขตกำแพงเมืองเท่านั้น แต่ว่าที่ภายนอกกำแพงเมืองสุโขทัยออกไป เพียงนิดเดียว ยังมีวัดที่น่าสนใจมากอยู่วัดหนึ่งนั่นก็คือ “วัดศรีชุม” ซึ่งคำเรียกชื่อวัดศรีชุมนั้น บ้างก็ว่ามาจากคำว่า สะหลีชุม หรือหมายถึงดงต้นโพธิ์ บ้างก็ว่าหมายถึง ฤๅษีชุม ซึ่งก็แล้วแต่จะว่ากันไป แต่สำหรับสิ่งที่น่าสนใจมากๆของวัดนี้อยู่ที่ คำเล่าลือที่ว่า พระพุทธรูปที่วัดศรีชุมนั้นพูดได้?!?

พระอจนะ พระพุทธรูปพูดได้แห่งวัดศรีชุม

เรื่องนี้จริง-เท็จอย่างไรคงต้องตามไปพิสูจน์เป็นดีที่สุด

สำหรับพระพุทธรูปที่ว่าพูดได้นั้น มีนามว่า “พระอจนะ” ที่แปลว่าผู้ไม่หวั่นไหว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร และมีความสูงถึง 15 เมตร โดยมีพุทธลักษณะงดงามมากทีเดียว ซึ่งตอนแรกที่ผมไปยืนเพ่งพินิจดูยังไงๆ ก็เห็นพระอจนะเป็นพระพุทธรูปธรรมดา ที่ยังมองไม่เห็นว่าท่านจะพูดได้อย่างไร

จนเมื่อผมได้รับรู้ประวัติของพระอจนะองค์นี้ว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อพระนเรศวรได้มาประชุมทัพเพื่อจะยกไปปราบเมืองสวรรคโลก ท่านต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เหล่าทหาร ดังนั้นจึงได้มีพิธีเสี่ยงทายกับพระพุทธรูป โดยได้เสี่ยงทายว่า การรบครั้งนี้หากจะได้ชัยชนะกลับมาก็ขอให้พระอจนะที่วัดศรีชุมแห่งนี้จงกล่าวตอบ แต่หากไม่ชนะก็ไม่ต้องตอบสิ่งใด

และผลของการเสี่ยงทายก็คือ พระอจนะก็ได้กล่าวตอบมาจริงๆ ซึ่งหลายๆคนคงนึกว่าเป็นปาฏิหารย์หรืออย่างไรที่ทำให้พระอจนะแห่งวัดศรีชุมพูดได้ แต่ว่าจริงๆแล้วเปล่าเลย แต่ว่าเหตุที่พระอจนะพูดได้นั้นเกิดจากกุศโลบายของพระนเรศวร ที่ได้ส่งคนขึ้นไปอยู่ด้านหลังเศียรพระและพูดตอบคำถามแทน เพื่อเป็นการปลุกปลอบขวัญทหารให้ฮึกเหิม โดยในผนังด้านหลังองค์พระอจนะจะมีอุโมงค์แคบๆที่คนสามารถเดินขึ้นไปยังหลังเศียรพระได้ เมื่อขึ้นไปแล้วพอส่งเสียงพูดก็จะมีเสียงจะก้องกังวานเหมือนว่าพระพุทธรูปนั้นพูดได้จริงๆ จากนั้นเป็นต้นมาก็กลายเป็นคำร่ำลือว่า พระอจนะแห่งวัดศรีชุมนี้พูดได้

ผมเห็นภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนแล้วก็อดทึ่งไม่ได้ ซึ่งนี่แหละคือความสามารถของคนสมัยก่อนที่คนรุ่นหลังควรศึกษาไว้เป็นแนวทาง และเรียนรู้ถึงอดีตอันยิ่งใหญ่ในอดีตแห่งอาณาจักรสุโขทัย เมืองรุ่งอรุณแห่งความสุขที่ ณ วันนี้แม้ว่าจะผ่านกาลเวลามากว่า 700 ปีแล้ว แต่ว่ารอยอดีตอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสุโขทัยยังคงมีเรื่องราวและความน่าสนใจให้คนรุ่นหลังได้ค้นคว้าศึกษากันไม่มีที่สิ้นสุด

*****************************************



อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2537 ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุโขทัยประมาณ 12 กิโลเมตร โดยจากตัวเมืองสุโขทัยไปตามเส้นทาง สุโขทัย – ตาก นักท่องเที่ยวที่ไม่มีรถ สามารถนั่งรถสองแถว (รถกระดาน) สายสุโขทัย – เมืองเก่า จากตัวเมืองไปได้ ท่ารถอยู่ใกล้ป้อมตำรวจ ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำยม ไปทางฝั่งตะวันตกราว 200 เมตร ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.ภาคเหนือเขต 3 โทร. 0-5525-2742-3

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์" โดย คุณปิ่น บุตรี



ไปข้างบน