หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

“เทียน” แสงธรรมนำใจชุมชน

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ เมื่อมีโอกาสได้ลองตัดเทียน สำหรับนำไปติดเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ ด้วยเหตุว่ามือสมัครเล่น ขาดทั้งความชำนาญ ความแคล่วคล่อง อีกทั้งทักษะ แต่ก็ไม่ยากเหนือบ่ากว่าแรงสักเท่าไหร่

ที่ว่าไม่ง่ายเลยนั้นนอกจากจะว่าถึงขั้นตอนการทำแล้ว ยังรวมถึงไม่ง่ายเลยกว่าที่จะได้เทียนที่ตัดพร้อมสำหรับติดพิมพ์จำนวนมากพอที่จะได้เทียนพรรษาสักรูปทรงหนึ่งๆ

“ชุมชนคุ้มวัดบูรพา” ที่ตั้งอยู่ถนนพโลรังฤทธิ์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เป็นหนึ่งในสถานที่ที่เราเดินทางมาเยี่ยมชมศิลปะการทำเทียนพรรษา ซึ่งทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 2 ได้ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวด้านเชิงวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านสังคมและศาสนา จึงได้จัดกิจกรรม “เยือนศิลปิน 9 คุ้มศิลปะ” เยี่ยมชมคุ้มวัด ซึ่งเป็นสถานที่แกะสลักเทียนพรรษาอันเลื่องชื่อของ จ.อุบลราชธานี เป็นหนึ่งในงาน “แห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ปี 2550” ซึ่งใช้ชื่องานว่า “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม เลิศล้ำเทียนพรรษา ปวงประชาพอเพียง”

9 คุ้มศิลปะ ประกอบไปด้วย ชุมชนวัดพระธาตุหนองบัว ชุมชนวัดหนองปลาปาก ชุมชนทุ่งศรีเมือง ชุมชนวัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) ชุมชนวัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) ชุมชนวัดศรีประดู่ ชุมชนวัดบูรพา และโรงเรียนวารินชำราบ ซึ่งแต่ละชุมชนก็มีเทคนิค ความคิดสร้างสรรค์ ลวดลายในการนำเสนอศิลปะแตกต่างกัน ทั้งประเภทติดพิมพ์ และแกะสลัก

สำหรับความแตกต่างระหว่างต้นเทียนแบบติดพิมพ์และแบบแกะสลัก เช่น แบบติดพิมพ์ ลำต้นเล็กกว่าแบบแกะสลัก ใช้วิธีพิมพ์ดอกจากแบบพิมพ์แล้วนำมาติดกับลำต้น ลวดลายละเอียดเล็กๆ ยาวๆ ไม่นูนหนา ลวดลายไม่เป็นเรื่องราวเดียวกัน ส่วนแบบไม่ติดพิมพ์ ลำต้น ดอก ลวดลาย ต้องเป็นเทียนชนิดเดียวกัน การแกะดอกหรือการแกะลวดลายจะแกะจากลำต้น ลวดลายมีขนาดตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ นูนหนา ลึก สลับซับซ้อน ทุกส่วนของต้นเทียน คือ ฐาน ลำต้น ยอด ไม่มีรอยต่อ เครื่องมือง่ายๆ วิธีการไม่สลับซับซ้อนไม่เหมือนติดพิมพ์

ศิลปะการทำเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ อย่างชุมชนคุ้มวัดบูรพา แตกต่างจากประเภทแกะสลัก อย่างชุมชนวัดพระธาตุหนองบัว ตรงที่กระบวนการทำ ติดพิมพ์มีขั้นตอนมากและต้องใช้แรงงานและรวมใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก ดังเห็นได้ว่ามีทั้งหญิง ชาย เด็กๆ ช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ ส่วนเทียนแกะสลักมีขั้นตอนน้อยกว่า ใช้ช่างประมาณ 5 คนก็พอไหว แต่ต้องมีช่างแกะสลักฝีมือดีมาทำ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่น้อยคน ถึงแม้จำนวนคนจะมากน้อยแตกต่างกัน ทว่าผลลัพธ์ ความสวยงาม ประณีตนั้นไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย

สำหรับการทำเทียนพรรษานั้นจะมีขึ้นก่อนหน้าเทศกาลเข้าพรรษาประมาณ 2-3 เดือน สำหรับนักท่องเที่ยวได้รับข่าวสารและเชื้อเชิญให้ไปชมวิถีชีวิตของช่างเทียนตลอดเดือน ก.ค. แต่สำหรับประชาชนที่สนใจทั้งบ้านใกล้เรือนเคียง และคนในชุมชนเองได้แวะเยือนมาชมและร่วมมือทำเทียนพรรษานับตั้งแต่เริ่มลงมือจนเสร็จสิ้นกระบวนการ พร้อมนำแห่ให้ชาวเมืองไทยชื่นชมความงามในวันเข้าพรรษา

เมื่อไปยังชุมชนต่างๆ นอกเหนือจากกิจกรรมการแกะสลักเทียนพรรษา ศึกษาวิธีและขั้นตอนการตกแต่งต้นเทียนโดยช่างฝีมือท้องถิ่นแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ประทับใจของผู้มาเยือนนั้นก็คือ ได้สัมผัสบรรยากาศการร่วมแรงร่วมใจของชุมชน ในการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นวิถีวัฒนธรรมพื้นบ้าน นับเป็นศาสตร์และศิลป์ชั้นยอดของภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นเอกลักษณ์ของ จ.อุบลราชธานีที่สืบสานจากโบราณกาลสู่ปัจจุบัน

ณ วัดบูรพา เสียงลูกเล็กเด็กแดงที่แข่งกันส่งเสียงเซ็งแซ่ในลานวัด ห้อมล้อมพ่อแม่ที่กำลังก้มหน้าก้มตาขะมักเขม้นอยู่กับการทำเทียนพรรษา แรงงานผู้ชายกลุ่มนั้นช่วยกันติดลายที่กำลังขึ้นรูปพระอินทร์อย่างสวยงาม อีกกลุ่มต้มขี้ผึ้ง อีกกลุ่มกำลังพิมพ์ลาย ส่วนกลุ่มแรงงานผู้หญิงกำลังนั่งตัดลาย มือไม้ก็สาละวนทำกันไป เฉลี่ยแล้ว 1 ลวดลายใช้เวลาไม่ถึงนาที ไม่ว่าจะลายยากง่าย ซึ่งมีมากถึง 60 ลาย เช่น ลายเทพพนม ลายหยดน้ำ ดอกพิกุล กินรี ผีเสื้อ ฟันปลา นาคคาบ ฯลฯ ท่ามกลางเสียงพูดคุยสลับกับหัวเราะอยู่เป็นระยะๆ บรรยากาศแห่งความสามัคคีเช่นนี้ใช่ว่าที่ชุมชนอื่นๆ จะไม่มี เพียงแต่ว่ามีมากน้อยแตกต่างกันเท่านั้นเอง

ในช่วงเวลาปกติชาวบ้านต่างมีภาระหน้าที่ของตัวเอง แต่ในช่วงเดือน พ.ค. - ก.ค. อีกหนึ่งภารกิจที่เพิ่มเข้ามาก็คือ การทำเทียนพรรษา ซึ่งจุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชน ทว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป บางชุมชนก็มีวิถีที่แตกต่างกันไปบ้าง เช่น จ้างช่างที่มีฝืมือจากชุมชนอื่น อำเภออื่น หรือไกลถึงข้ามจังหวัดก็มี มาทำเทียนพรรษา จุดนี้นี่เองเป็นด้านลบที่คอยกะเทาะให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับวัดห่างเหินกัน โดยที่ชุมชนนั้นๆ จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

“นพรัตน์ กอกหวาน” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 2 ได้ให้มุมมองถึงสภาวการณ์นี้ว่า “ถ้ามีเงินไปจ้างคนมาทำสวยๆ แต่ถ้าเงินหมดก็หมดสวย แต่ถ้าคนในชุมชนทำเองมันจะไม่มีวันหมดสวย ไม่มีเงินก็ทำกันเองได้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นจุดที่เราเน้น ชูเรื่องของชุมชน ให้เขาเป็นชุมชนเข้มแข็ง กระตุ้นเอกลักษณ์ของเทียน นอกจากเมืองอุบลฯ จะมีชื่อเสียงของงานแห่เทียนพรรษาแล้ว เรายังชูชุมชนทำเทียนพรรษาให้ชัดเจนในความเป็นเมืองศิลปะ”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการจ้างช่างเป็นเพียงปลายเหตุที่หลายๆ ฝ่ายควรจะหันกลับมาให้ความสนใจ ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องจ้างช่างมาจากที่อื่น ช่างที่มีอยู่ฝีมือใช้ไม่ได้ หรือว่าหาช่างไม่มี ทว่าปัญหาเฉพาะหน้าที่หลายๆ ชุมชน (มากกว่า 9 ชุมชนที่เอ่ยชื่อ) กำลังเผชิญก็คือ การทำเทียนพรรษาในแต่ละปีที่ผ่านๆ มานั้น ดูเสมือนว่าจะมีเฉพาะแรงงานของคนกลางวัยไปจนถึงสูงวัย และดิ่งลงมาที่เด็กตัวเล็ก หาแทบไม่เจอที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น

เมื่อเป็นเช่นนี้ การขาดรอยต่อของช่างทำเทียนต้องเกิดขึ้นแน่นอน ไม่ต้องว่ากันถึงได้ช่างฝีมือดีหรอก เพราะแค่จะหามาฝึกฝนยังยาก นั่นเป็นเพราะวัยรุ่นที่เรียกว่าตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่นั้นขาดความสนใจในศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง อย่างไรก็ตามปัญหานี้ยังไม่ถึงกับขาดความสนใจ เพราะทางวิทยาลัยอาชีวะ อุบลราชธานี ได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนท้องถิ่นคือ “วิชาแกะสลักเทียน” เป็นวิชาเลือกเสรี ซึ่งแต่ละปีมีจำนวนนักเรียนลงทะเบียนเรียนประมาณ 500 คน นับเป็นจำนวนที่ยิ้มออกได้ อีกทั้งยังมีการลงภาคสนามในช่วงการทำเทียนพรรษาตามชุมชนต่างๆ อีกด้วย

“เทียนพรรษา” แม้จะมีช่วงการลงมือทำเพียง 2 เดือนก็ตาม ทว่าเวลาอันสั้นนี้ก็ได้ทำให้ชาวบ้านได้หันหน้าเข้าวัด เกิดการร่วมมือร่วมใจเหนืออื่นใดแล้วเพื่อเป็นพุทธบูชา ในฐานะชาวพุทธ

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "โพสต์ทูเดย์"




ไปข้างบน