หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

คุยเรื่องเทพกับ จำลอง ฝั่งชลจิตร ‘ผมเป็นคนนครฯ ถ้าไม่นับถือจตุคามฯ ก็บ้าแล้ว!’




คงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าชาวบ้านร้านตลาดจะนับถือศรัทธาจตุคามรามเทพกันทั้งบ้านทั้งเมือง

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คนในแวดวงนักเขียน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้มีภูมิรู้ มีวิจารณญาณ และมีความคิดก้าวหน้ากว่าชาวบ้านธรรมดาทั่วไป จะหันมาบูชาจตุคามรามเทพกับเขาด้วย ประเด็นนี้จึงค่อนข้างน่าขบคิด

และหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงไม่ต้องแปลกใจที่เหล่าบรรดาเพื่อนพ้องในแวดวงน้ำหมึกจะออกมาเย้ยหยัน

แต่กับนักเขียนรุ่นใหญ่แห่งเมืองนครศรีธรรมราช อย่าง “จำลอง ฝั่งชลจิตร” นี่คงไม่ใช่เรื่องขำสำหรับเขา เพราะเรื่องนี้เขา “เอาจริง” ถึงขั้นกระโจนเข้าสู่กระแสจตุคามฯ เต็มตัว โดยไม่กระมิดกระเมี้ยนเหนียมอาย


จตุคามรามเทพ องค์ใหญ่ที่สุดในโลก



จากแกะดำเมืองนครฯ สู่สาวกจตุคามฯ

ทันทีที่พบกัน ยังไม่ทันจะตั้งคำถาม แต่ประโยคแรกที่จำลองเอื้อนเอ่ยออกมาก็พอจะอธิบายถึงเหตุผลบางประการของเขาได้เป็นอย่างดี

“ดีนะที่ผมไหวตัวทัน ไม่อย่างนั้นผมคงอดตายไปนานแล้ว!” นักเขียนใหญ่สารภาพอย่างตรงไปตรงมา แถมยังสำทับด้วยว่า ถ้าเขาสนใจเรื่องนี้ตั้นแต่ต้นป่านนี้คงรวยไม่รู้เรื่องแล้ว

ที่จริงก่อนหน้านี้ นอกจากจำลองจะไม่มีความสนใจในเรื่องวัตถุมงคลหรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แล้ว เขายังมองด้วยสายตาเหยียดๆ ด้วยซ้ำ ถึงขนาดเพื่อนฝูงอุตส่าห์สรรหาจตุคามฯ ระดับโคตรเซียนมายัดใส่มือ เขาก็ยังบ่ายเบี่ยงที่จะรับไว้

แต่แล้ววันหนึ่งทัศนะก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อต้องสัมผัสเฉียดผ่านสิ่งเหล่านี้วันแล้ววันเล่า จนเกิดคำถามขึ้นในใจว่า “นี่มันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองเรา คนมันมาจากไหนกันเยอะแยะ มาสวดมนต์ทำพิธีสร้างจตุคามฯ กันเต็มไปหมดไม่เว้นแต่ละวัน” เขารำพัน

ท้ายที่สุด นักเขียนใหญ่เจ้าของผลงานยอดเยี่ยมอย่าง เรือญวน ผ้าทอลายหางกระรอก ขนำน้อยกลางทุ่งนา ฯลฯ ก็ไม่อาจทานกระแสจตุคามฯ ได้ และด้วยเหตุที่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง เขาจึงเริ่มลงมือศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังตามสัญชาตญาณนักเขียน

“ความจริงแล้วผมอาจมองข้ามเรื่องนี้ไปก็ได้ ทั้งๆ ที่เราเป็นนักเขียน ซึ่งควรจะสนใจปรากฏการณ์และความเป็นไปของสังคม แต่อย่าลืมว่าผลไม้มันต้องสุกงอมตามเวลา เหมือนกับความสนใจของผมที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะขณะที่คนทั่วประเทศแห่มาปลุกเสกจตุคามฯ กันโครมๆ ถ้าคุณยังรู้สึกเฉยๆ คุณจะเป็นนักเขียนได้อย่างไร”

เมื่อความสนใจของจำลองพอกพูนมากขึ้น เขาเริ่มขยับขยายเข้าสู่องค์ความรู้ต่างๆ ในเรื่องการสร้างพระ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพิธีกรรม ชนวนมวลสาร หรือวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างจตุคามฯ

ช่วงต้นปี 2550 หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “นครโพสต์” ที่จำลองปลุกปั้นมากับมือกำลังอยู่ในช่วงขาลง รายได้จากโฆษณาหดหาย อยู่ในภาวะง่อนแง่นเต็มทน จำลองจึงตัดสินใจปรับโฉมใหม่โดยเปิดเซ็กชันพระเครื่อง ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง กระทั่งล่าสุดถึงกับยุบหนังสือพิมพ์นครโพสต์แล้วหันมาทำวารสาร “จตุคามรามเทพปริทรรศน์” แจกฟรีทั่วบ้านทั่วเมือง โกยรายได้จากค่าโฆษณาชนิดที่ว่าหน้ากระดาษไม่พอให้ตีพิมพ์

“พอมีรายได้เข้ามามันก็เริ่มสนุก และเริ่มรู้จักกับคนในแวดวงพระเครื่องมากขึ้น วันหนึ่งผมเลยลองไปเช่าจตุคามฯ ดูบ้าง แล้วเอามาปล่อยกันเองในออฟฟิศ มันก็สนุกดีเหมือนกัน”

จตุคามฯ องค์แรกที่จำลองลงทุนเช่ามากับมือคือ รุ่นเงินไหลมา ซึ่งขณะนั้นราคาไม่กี่ร้อยบาทและค่อยๆ ขยับสูงขึ้น รวมถึงจตุคามฯ อีกหลายต่อหลายรุ่นที่เช่ามา-ปล่อยไป แล้วได้กำไรทันตาเห็น ซึ่งจำลองบอกว่า ส่วนต่างของราคาตรงนี้เองที่ทำให้รู้สึก “เพลิน” ไปอีกแบบ

“ส่วนต่างและกำไรมันทำให้คนเราเพลินทั้งนั้นแหละ แต่อีกใจหนึ่งคือเราเองก็สนุกด้วย อยากสะสมพระ อยากเรียนรู้เรื่องพระ เพราะผมเป็นคนนครฯ ถ้าไม่นับถือจตุคามฯ ก็บ้าแล้ว”


จตุคามรามเทพ รุ่นโคตรเศรษฐี



จตุคามฯ คืองาน งานคือเงิน ไม่ใช่ลาภลอย

สรรพคุณของจตุคามฯ ที่ผู้คนกล่าวขานถึงมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องของโชคลาภและความร่ำรวย ภายใต้วาทกรรม “ขอได้...ไหว้รับ” ทำให้คนจำนวนไม่น้อยล้วนอธิษฐานขอสิ่งเหล่านี้จากองค์จตุคามฯ แต่สำหรับจำลองเขาไม่ขออะไรมากไปกว่า...ขอแค่มีงานทำ

“บางคนมองว่าคนที่นับถือจตุคามฯ เป็นพวกงอมืองอเท้า ไม่ยอมทำอะไร แต่จริงๆ คนนครฯ ทำงานหนักกันทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เงินจะลอยมาเอง โรงพิมพ์ป้ายโฆษณาไวนิลก็ทำงานจตุคามฯ ร้านทำกรอบพระก็ทำงานเกี่ยวกับจตุคามฯ ช่างสิบหมู่ก็มีงานทำ กระทั่งคนทำบายศรี เย็บใบตอง ก็ทำงานจตุคามฯ ทุกคนมีเงินขึ้นมาได้ก็เพราะทำงาน ไม่ใช่ว่ารวยเพราะถูกหวย หรือนั่งรอลาภลอย” เขากล่าว

ฉะนั้น เขาจึงมองว่าแท้จริงแล้วพรของจตุคามฯ ก็คืองาน แต่เป็นงานที่เกี่ยวเนื่องกับความศรัทธา ดังพุทธสุภาษิตบทหนึ่งที่จำลองจำได้ขึ้นใจว่า ศรัทธาคือทรัพย์อันประเสริฐ หากดำรงศรัทธานั้นให้ถูกทิศทาง


วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ รุ่นเทพมงคล



โปรเจกต์ใหม่...นิยายจตุคามฯ

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้จำลองต้องกระโจนสู่วงการพระเครื่องก็คือ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และถ่ายทอดออกมาเป็นนิยายเล่มใหม่ว่าด้วยเรื่องจตุคามฯ ที่เขากำลังซุ่มเขียนอยู่ขณะนี้

“ผมนึกอยู่ตลอดเวลาว่าเราเป็นนักเขียน มันต้องสัมผัสตัวละครให้ได้ครบทุกรส ทั้งอารมณ์ของผู้เช่า อารมณ์ของผู้จอง อารมณ์ของผู้สร้าง อารมณ์ของพระเกจิ และอารมณ์ของคนที่โมโหเพราะได้พระไม่สวย ฉะนั้น ผมจึงพยายามเข้าไปสัมผัสอารมณ์เหล่านี้ให้ได้ทุกมุม” เขากล่าว

ถามว่าจำเป็นด้วยหรือที่นักเขียนต้องลงไปคลุกวงในขนาดนั้น เหตุใดไม่เฝ้ามองจากมุมสูง? จำลองมีคำอธิบายว่า

“แค่เฝ้าดูมันยังไม่พอหรอก ถ้าอยากเขียนเรื่องนี้ให้ได้รสชาติก็ต้องลงไปเล่นเอง ผมคงไม่มานั่งรักษาภาพลักษณ์ว่าตัวเองไม่ใช่คนงมงายหรอก แล้วผมก็ไม่รู้สึกอายเลยด้วยซ้ำ ดูอย่าง “เฮมิงเวย์” ที่ตัดสินใจไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งที่รู้ว่ามันเสี่ยงอันตราย ถามว่าเขาบ้าหรืองมงาย แต่สุดท้ายเขาก็เขียนออกมาเป็นหนังสือได้ แล้วผมจะมานั่งหวงตัวเองเพื่อรักษาภาพลักษณ์บ้าบอคอแตกอยู่ทำไม” จำลอง กล่าวอย่างมีอารมณ์

หากวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นที่ชื่อ “ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป” (ปี 2548) ของจำลอง คือการสะท้อนเรื่องราวพฤติกรรม ค่านิยม และวิถีชีวิตของคนเมืองลิกอร์ หรือชาว จ.นครศรีธรรมราช ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย วรรณกรรมเล่มใหม่ที่เขากำลังตระเตรียมอยู่นี้ก็คงเป็นการกะเทาะความคิด ความเชื่อ และทัศนคติของคนนครฯ ในยุคสมัยที่ผูกโยงกับวัตถุมงคลจตุคามรามเทพได้อย่างแจ่มแจ้งหมดจด ในฐานะที่เขาได้สัมผัสคลุกคลีแทบทุกวัน

ที่สำคัญยังเป็นการท้าทายให้ผู้คนในสังคมได้เหลียวกลับมามองเรื่องของจตุคามฯ ด้วยสายตาที่เบิกกว้าง แทนที่จะตั้งป้อมวิพากษ์วิจารณ์ หรือดูถูกเหยียดหยามความเชื่อของคนเมืองนครฯ เพียงด้านเดียว


เทวรูปจตุคามรามเทพ



จตุคามฯ ส่องให้เห็นเงามืดของสังคม

ความเชื่อความศรัทธาของปัจเจกบุคคลเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุด จำลองมองประเด็นนี้ว่า ความศรัทธาที่มีต่อจตุคามฯ ถือเป็นวิถีของแต่ละคน ยากที่จะก้าวล่วงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นสายพุทธแบบสุดโต่งที่เน้นการวิปัสนากรรมฐาน หรือสายพุทธแบบชาวบ้านที่ยังต้องพึ่งพาวัตถุเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวก็ตาม

“เรากำลังถูกสอนให้ยึดมั่นถือมั่นว่า การสร้างวัตถุไม่ใช่แก่นแกนของพระศาสนา เรามักดูถูกว่าพระบ้านนอกชอบสร้างศาลา สร้างเมรุ สร้างวัตถุ แต่ถ้าไม่สร้างแล้วจะให้พระนอนศาลาห่มผ้าผีเหมือนในสมัยพุทธกาลอย่างนั้นหรือ และถ้าไม่มีเมรุดีๆ ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร ต้องมานั่งเผาผีเหมือนเผาปลา เห็นแล้วน่าเวทนาเกินไป ฉะนั้น วัตถุจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ประเด็นคือจำเป็นแค่ไหน อย่างไรต่างหาก” เขากล่าว

จำลอง สรุปด้วยว่า ปัญหาทั้งหมดนี้เกิดจากการที่วัดถูกทอดทิ้ง ขาดการเหลียวแล เป็นความล้มเหลวของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรมที่ไม่ได้ทำนุบำรุงศาสนาอย่างแท้จริง แต่เมื่อมีจตุคามฯ ขึ้นมา อย่างน้อยก็ช่วยระดมทุนได้ ถึงแม้บางกรณีวัดจะได้ครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

เขาบอกอีกว่า จตุคามฯ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนหัดของทุกรัฐบาล เพราะทันทีที่วัดต้องการสร้างจตุคามฯ หรือโรงพยาบาลหันมาสร้างจตุคามฯ เพื่อซื้อเครื่องมือแพทย์ หรือแม้แต่กองทัพอากาศมาสร้างจตุคามฯ เพื่อหารายได้เป็นสวัสดิการให้ทหาร นั่นแสดงว่าหน่วยงานนั้นๆ กำลังประสบปัญหา โดยที่รัฐบาลไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง

“จตุคามฯ ได้สะท้อนให้เห็นในมุมกลับว่า สังคมไทยทุกหัวระแหงกำลังถูกทอดทิ้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ยังป่วยไข้อยู่ เพียงแต่ไม่ปรากฏอาการ แต่พอมีจตุคามฯ ทุกอย่างก็เริ่มเผยออกมาให้เห็น” เขากล่าว

แม้กระทั่งปรากฏการณ์ “เหยียบกันตาย” ที่สังคมรุมก่นด่าว่าเป็นความมืดบอดทางปัญญาของชาวบ้านที่พากันไปแย่งจตุคามฯ รุ่นเงินไหลมา 2 จนเป็นเหตุให้มีผู้ถูกสังเวยชีวิต แต่สำหรับจำลองกลับมองเหตุการณ์นี้ในมุมที่ต่างออกไป

“ดูเหมือนกับว่าบาปจะตกอยู่กับวัตถุมงคลรุ่นนี้ แต่ที่จริงวัตถุมงคลรุ่นนี้ต่างหากที่เปิดเผยธาตุแท้ของมนุษย์ออกมา จตุคามฯ รุ่นนี้จึงเป็นวัตถุมงคลที่สุดยอดจริงๆ เพราะมันกระชากไส้ของมนุษย์ออกมากองให้เห็นเป็นขดๆ ไม่ว่าใครก็ต้านทานความแรงหรือส่วนต่างราคาของพระรุ่นนี้ไม่ได้ เอาไปตั้งไว้ที่หน่วยงานไหน คนก็จะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ มีแต่คนจ้องจะขโมย โดยที่วัตถุมงคลนั้นไม่ได้ผิด แต่ได้สำแดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็นว่า...มึงทนต่อกูไม่ได้”

ในทัศนะของจำลอง เมืองนครฯ จึงเป็นเพียงฉากๆ หนึ่ง โดยมีประชาชนเป็นตัวละคร ส่วนจตุคามฯ เป็นตัวดำเนินเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงปมปัญหาของสังคม ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนก็จะได้บทเรียนเอง


วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ



ล้วงคอจำลอง

เมื่อพินิจดูวัตถุมงคลที่แขวนอยู่บนคอของนักเขียนรุ่นใหญ่ ก็ต้องสะดุดตากับความอลังการ เรียกได้ว่าเซียนพระเครื่องทั้งหลายต้องน้ำลายหก ไล่มาตั้งแต่องค์แรกคือ หลวงปู่ทวด รุ่น “พุทธาคมเขาอ้อ” ด้านหน้าเป็นหลวงปู่ทวด ด้านหลังเป็นศาลหลักเมือง ซึ่งจำลองบรรยายสรรพคุณว่า องค์นี้แหละที่ช่วยให้แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุมาแล้ว ส่วนองค์ที่ 2 จตุคามรามเทพ รุ่น “โคตรเศรษฐี” เนื้อสามกษัตริย์ นาค-ทอง-เงิน ซึ่งกำลังเป็นที่ตามหาในหมู่นักเลงพระในขณะนี้ และองค์ที่ 3 “เงินไหลมา” รุ่นแรก เนื้อก้นครก ด้านหน้าเป็นจตุคามฯ ด้านหลังเป็นพระพุทธสิหิงค์ ถือเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังจนต้องมีการผลิตซ้ำเป็นรุ่นที่ 2 และ 3

“เคยมีคนขอปลดจากคอผมเยอะ แต่ผมยังหวงอยู่ แต่ถ้าวันไหนที่เราขัดสนขึ้นมาก็อาจจะปล่อยไปก็ได้ ถือเสียว่าท่านได้ช่วยเราจนเฮือกสุดท้ายแล้ว ท่านจะได้ไปช่วยเหลือคนอื่นต่อ” เขากล่าวด้วยอารมณ์ขัน

จำลอง เล่าว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยแขวนพระสักองค์ เพราะรู้สึกรุ่มร่ามชอบกล แต่เมื่อได้แขวนจตุคามฯ แล้วก็ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้มีหัวข้อสนทนากับคนนครฯ มากขึ้น

ชีวิตของจำลองแม้จะไม่ใช่จอมขมังเวท แต่โดยพื้นฐานแล้วเขาเคยสัมผัสกับเรื่องทางไสยศาสตร์มาพอสมควร เนื่องจากพ่อของเขาเป็นลูกศิษย์วัดเขาอ้อ สายเดียวกับ พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล และ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช ผู้สร้างตำนานจตุคามรามเทพ แต่โดยส่วนตัวเขาจะคิดอย่างไรนั้น เขาเองยังรู้สึกก้ำกึ่ง

“เชื่อหรือไม่เชื่อ เราไม่ว่ากัน แต่ผมเองก็ไม่เคยท้าทายใคร และไม่วางตัวอยู่ในความประมาท แค่นั้นก็พอ” เขากล่าวทิ้งท้าย

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "โพสต์ Today"


ไปข้างบน