หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

คติชีวิต...ของขุนพันธรักษ์ราชเดช


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชทานเพลิงศพ “ขุนพันธ์”

"เราอย่าหาเรื่องวุ่นวายอะไร" คือคำตอบกลั้วเสียงหัวเราะของคุณตาขุนพันธ์ เมื่อปี พ.ศ.2544 ขณะอายุ 102 ปี ที่ผมได้มีโอกาสสนทนาเชิงสัมภาษณ์กับขุนพันธ์ เพื่อบันทึกรายการโทรทัศน์ "เวทีเมืองคอน" ที่บ้านพักซอยราชเดช เมืองนครศรีธรรมราช พร้อมกับคำสำทับหลังหัวเราะจนสุด ว่า "นั่นแหละ อยู่สบายๆ ไม่ดีกว่าเหรอ" เมื่อตอบคำถามที่ว่า "ถ้าเด็กๆ เขาอยากจะถามคุณตาว่า อยู่ยังไงดีแล้วมีสุขอย่างคุณตา"

ด้วยวัยร้อยปีกว่า จนถึงเสียชีวิตเมื่อถึง 108 ปี ของ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช ในปี 2549 นั้น มีเพียงเรื่องเดียวที่เป็นอุปสรรค-ปัญหาสุขภาพ คือ หูตึง นอกนั้นนับได้ว่าท่านเป็นคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีเยี่ยม กินอยู่ หลับนอน เดินเหิน พูดคุยและอ่านหนังสืออย่างปกติที่สุด โดยก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2538 ขณะมีอายุ 97 ปี เมื่อผมถามเรื่องกรุงชิง ยังได้ชวนผมซ้อนรถจักรยานยนต์ขึ้นป่าไปน้ำตกกรุงชิงด้วยกัน และที่สำคัญคือ มีความจำเป็นเลิศ ถึงขนาดว่าผมเคยถามอะไรห้ามถามซ้ำ แม้จะล่วงเลยมานับสิบปี เพราะท่านจำได้หมดว่า

"เรื่องนี้เคยถามและเคยตอบแล้ว ทำไมไม่รู้จำ"

สัมพันธ์ ก้องสมุทร ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงประวัติไว้ใน "ขุนพันธ์มือปราบสิบทิศ" สรุปไว้ว่าขุนพันธ์เป็นคน "เคารพต่อหน้าที่ กรุณาปรานีต่อประชาชน อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก ไม่มักมากในลาภผล บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ดำรงตนในความยุติธรรม กระทำการด้วยปัญญา รักษาความไม่ประมาทเสมอด้วยชีวิต"


“ขุนพันธรักษ์ราชเดช”

แต่สำหรับผมและพวก เท่าที่ได้สัมผัสและรับรู้มา ถ้าถามว่า "ขุนพันธ์ท่านมีคติอะไรบ้าง?"

ลองพิจารณาท่าทีและคำตอบของท่านเองดีกว่า

เขาถามกัน "ตัวบริสุทธิ์ดีเหรอ " ...บอก "ผมไม่มีมลทินอะไรครับ ไม่ยุ่งกับลูกเมียใคร"

นี่คือข้อแรกที่สุดของท่านที่อธิบายถึงข้อแม้เมื่อไปขอฝากตัวเรียนวิชา ณ สำนักเขาอ้อ คือความสะอาดและบริสุทธิ์ ผมยังจำได้แม่นยำในคำย้ำอธิบายในเรื่องนี้ที่ท่านบอกว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุด ถ้ามีมลทินเสียแล้วมีหนทางเดียวเท่านั้นคือต้องไป "เกิดมาใหม่" เท่านั้น

"คนที่มาขอเล่าขอเรียนก็มี แต่ไม่สำเร็จสักคน...มันไม่มีความเพียร" นี่ก็อีกข้อคู่กันเมื่อผมถามถึงผู้มาฝากตัวเป็นศิษย์สืบทอดวิชา "ก็มีพรรค์นั้นแหละครับ...มันทำไม่ได้...เพราะว่ามันมาขอ เราก็ให้ไป ให้แบบปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติได้ก็มา" แต่ "ไม่สำเร็จสักคน...มันไม่มีความเพียร" พร้อมกับยกรูปธรรมให้เข้าใจได้ชัดว่าเพียงให้ภาวนาอย่าให้ยุงกัด ถ้าไม่สู้ก็ประสาอะไรจะไปจับโจร "ยุงมึงก็ไม่สู้แล้ว" ท่านหัวเราะย้ำอย่างนี้


งานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 50 ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีประชาชนเข้าร่วมอย่างมากมาย

เรื่องความเพียรพยายาม มุ่งมั่นจริงจังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษา "ความบริสุทธิ์" ของท่านนั้นเป็นที่รับรู้เลื่องลือ ถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำคัญ ควบคู่กับการหมั่นศึกษาค้นคว้าและพัฒนาอย่างไม่ลดละ เช่นเรื่องสมุนไพรและยาอายุวัฒนะ ในฐานะของดีที่ทั่วทั้งป่ากรุงชิง-เขาหลวงต่างรู้และเต็มไปด้วยเรื่องราวการเข้าค้นหา ดังเช่นการบุกป่าเพื่อดื่มน้ำทิพย์จากรากเต่าร้างยักษ์ที่ต้นน้ำเขาหลวง รวมทั้งที่ท่านเคยถึงกับ "ผมกินแต่ยา ไม่กินข้าวอยู่หลายปี...ยาทำเอง...ยาสมุนไพร"


“ขุนพันธรักษ์ราชเดช”

ความตรง เป็นนักเลงจริงและไม่เอาเปรียบใคร น่าจะเป็นอีกคติหนึ่งที่แม้ท่านจะไม่เล่าออกมาตรงๆ แต่จากการเลียบเคียงเรื่องการปราบโจรผู้ร้ายแต่ละราย ล้วนแต่เป็นการต่อสู้แบบไม่เอาเปรียบหรือลอบทำร้ายใช้เล่ห์อุบาย ไม่ว่าจะเป็น "เสือสังข์" โจรคนแรกที่สู้กันตัวต่อตัวจนถึงขั้นกัดกันจนเนื้อขาด แล้วท่านเผด็จได้ด้วยการ "บีบลูกกระโปกตาย", "อะแวสะดอ" ที่ต่อยกันแล้วแย่งกริชได้, กระทั่งเสือฝ้ายเมืองสุพรรณ ที่กลัวและพยายามติดสินบนขุนพันธ์ แล้วถูกปราบด้วยวิธีลอบหลังของนายตำรวจอื่นจนสร้างรอยฝังใจไม่ยอมพูดอะไรในเรื่องนี้ มีแต่น้ำเสียงและสายตาที่อดสูและหดหู่เมื่อผมพยายามถามถึง

สำหรับการดำรงชีวิตโดยเฉพาะอาหารนั้น อาจารย์ฐิติพันธ์ พันธรักษ์ราชเดช ลูกสาวผู้อยู่ดูแลประจำที่บ้านบอกว่า

"คุณพ่อกินน้อยมาก กินเหมือมดม" ในขณะที่ท่านเองบอกแต่ว่า "(อาหาร) ไม่มีพิเศษหรอกครับ มีอะไรตามใจเขา ทำมาก็กิน อร่อยก็กินได้ไม่มาก ไม่อร่อยก็กินไป...ทานตามกินอิ่ม ระมัดระวังมากครับ"

สรุปว่ากินได้หมดตามอิ่มด้วยความระมัดระวัง โดยที่ชอบนั้นคือน้ำพริก ผักจิ้มสะเดา

ส่วนเรื่องทางใจ นอกจาก "เราอย่าหาเรื่องวุ่นวายอะไร...อยู่สบายๆ ไม่ดีกว่าเหรอ" แล้ว ท่านเป็นผู้ใฝ่กุศล นิยมทำบุญ แม้เรื่องเป็นเจ้าพิธีกรรมหรือการปลุกเสกต่างๆ ก็ล้วนเป็นการกุศลให้แก่วัดต่างๆ รวมทั้งบรรดาหน่วยงานที่มาขอความอนุเคราะห์ ไม่เคยมีการดำเนินการจัดทำอะไรเพื่อการพาณิชย์หรือหาผลประโยชน์ส่วนตัวเลย


“ขุนพันธรักษ์ราชเดช”

นอกเหนือจากคำให้สัมภาษณ์ที่ว่า "ก่อนจะนอนก็สวดมนต์สักหน่อย" แล้ว ท่านยังบอกผมอีกว่า "ถ้าจะให้มุ่งหมายถึงเป้าหมายชีวิต ก็ควรมุ่งสู่นิพพาน" โดยท่านก็ปรารภทิ้งท้ายกับผมว่า "ท่าจะไม่ถึง"

ถึงหรือไม่ถึง ไม่มีใครรู้ แต่ถือได้ว่า "คติ" ที่สุดที่ท่านวางไว้สำหรับชีวิตคือ "ยิ่งกว่าสุคติ" คือ "นิพพาน" ที่บรรพบุรุษพุทธมามกะชาวไทย และในเมืองนครล้วนมุ่งหมาย ดังจารึกบนแผ่นทองตลอดปลียอดพระบรมธาตุเมืองนคร ที่ว่า "นิพพานปจฺจโยโหตุ", "ตราบเท่าเข้านิพพาน", "ขอให้เป็นปัจจัยแก่พระปรินิพพาน", "ขอให้สำเร็จพระนิพพาน", "ขอเป็นประไจยตราเท่าเถิงนิพาน" และ "มีพระนิพพานสมบัติเป็นที่สุด"

แล้วพวกเราจะมัวเสาะหาอะไรที่ต่ำไปกว่านี้ ในเมื่อขุนพันธ์ผู้มีส่วนสร้างจตุคาม-รามเทพ เองยังมุ่งหวังตั้งเป้าต่อชีวิตไว้ยิ่งกว่านั้น

เชื่อมั่นว่าท่าน...คุณตาขุนพันธ์ ได้ผ่านพ้นความโกลาหลของโลก ไปสู่ "คติ" ดังที่ท่านมุ่งหวังและเพียรพยายามบำเพ็ญตลอดมา


ไปข้างบน