หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

ธรรมะคู่องค์กษัตรา

พระมหากษัตริย์ไทยนับแต่อดีตจนปัจจุบัน ล้วนทรงเป็นพุทธมามกะผู้ทรงทศพิธราชธรรม ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์โดยธรรม ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ซึ่งรวมถึงการเสด็จออกผนวช โดยหากจะกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศพระองค์แด่พระพุทธศาสนา โดยการสละราชสมบัติเสด็จออกผนวชเป็นการชั่วคราว ที่มีบันทึกในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีถึง 4 พระองค์ด้วยกัน

4 พระมหากษัตริย์ไทย ทรงพระผนวชขณะครองราชย์

จากข้อมูลของคณะกรรมการโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า พระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย ได้เสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นการชั่วระยะเวลาหนึ่งเมื่อพุทธศักราช 1905

“จึงเสด็จบรรพชาเป็นภิกษุในระหว่างพัทธสีมานั้น ขณะนั้นนาคราชหนึ่งอยู่โดยบูรพทิศ เมืองสุโขทัยนั้น ยกพังพานขึ้นสูง พ้นคนแปรตาไปเฉพาะป่ามะม่วงนั้น เห็นรอยผุดพุ่งกลางอากาศลงต่อแผ่นดิน อนึ่ง เวลานั้น ได้ยินเสียงระฆังดนตรีดุริยางค์ไพเราะใกล้โสตของชนเป็นอันมากจะพรรณนานับมิได้ แต่บรรดามหาชนที่มาสโมสรสันนิบาตในสถานที่นั้นย่อมเห็นการอัศจรรย์ประจักษ์ทุกคน เหตุด้วยเสด็จออกทรงบำเพ็ญพระบารมีเมื่อทำอัษฎางคิกศีล” จากคำแปลศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร เนื้อความตอนพระมหาธรรมราชาลิไททรงพระผนวช

พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 2 ที่เสด็จออกผนวชในขณะทรงครองราชย์คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.1991-2031) พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์ “มหาชาติคำหลวง” สำหรับใช้สวดสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชนในทางหนึ่ง และในช่วงปลายรัชสมัยของพระองค์ พ.ศ.2008 พระองค์ได้เสด็จออกผนวชขณะที่ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลานานถึง 8 เดือนเศษ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก ในการเสด็จทรงพระผนวชคราวนั้น ยังมีพระราชโอรส พระราชนัดดาและข้าราชบริพารบวชโดยเสด็จถึง 2,348 พระองค์/คน

พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 3 ที่เสด็จออกผนวชในขณะทรงครองราชย์คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาแตกฉานในพระพุทธศาสนาอีกพระองค์หนึ่ง ทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการของพระพุทธศาสนาในทุกด้าน ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านพุทธสถาน การศึกษา และการสั่งสอน เมื่อพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา ได้เสด็จออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน เมื่อพุทธศักราช 2416

พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 4 ที่เสด็จออกผนวชขณะทรงครองราชย์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกและทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ได้เสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน 2499


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขณะทรงพระผนวช

พระมหากษัตริย์และศาสนาพุทธ

จุดประสงค์ในการเสด็จออกผนวชเป็นไปตามประเพณีที่ทรงอยู่ในฐานะผู้นำการปฏิบัติรักษาพุทธศาสนา แต่โดยพระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัยนั้น ทรงอธิษฐานปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อนำสัตว์ทั้งปวงข้ามไตรภพ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ยิ่งต้องถือว่ามีเกร็ดเป็นพิสดาร

ในปี พ.ศ.2409 เสด็จออกบรรพชาเป็นสามเณร ขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดการตามแบบเจ้าฟ้าทรงผนวช รวมเวลาทรงผนวชสามเณร 6 เดือน ในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระนิพนธ์ กล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า “เมื่อ พ.ศ.2409 ในปีขาล จุลศักราช 1228 ทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการใหญ่ตามพระเกียรติ มีสมโภชวันหนึ่ง รุ่งขึ้นแห่ไปทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประทับแรมเพื่อการฉลองคืนหนึ่งและเสด็จมาอยู่วัดนี้ (วัดบวรนิเวศวิหาร) ประทับที่พระปั้นหยา”


ชุดแง่เต็งประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดทรงขณะทรงพระผนวช

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีต่างพร้อมใจกันกราบบังคมทูลอัญเชิญพระองค์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ โดยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 แต่เนื่องจากเวลานั้นพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 16 พรรษา ยังไม่บรรลุนิติภาวะ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2416 ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษาบริบูรณ์ จึงทรงพระผนวชเป็นภิกษุ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2416 ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“จะทรงว่าราชการได้เองเหมือนอย่างพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อนๆ ต่อไป เมื่อเดือน 11 จึงเสด็จออกจากราชสมบัติ ไปทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับอยู่วัดพุทธรัตนสถาน (ในพระบรมมหาราชวัง) 15 วัน เป็นพิธีแสดงให้ปรากฏว่าพระชันษาพ้นเยาว์วัยแล้ว...”

ครั้นถึงเดือน 12 ปีระกา ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ถวายพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” การที่ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใหม่อีกครั้งนั้น เพราะเหตุว่าพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติเสียเมื่อเสด็จออกผนวช จึงต้องถวายใหม่

แต่อีกนัยหนึ่งเป็นการแสดงว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงว่าราชการเมืองเองต่อไป สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มิได้เป็นผู้ว่าราชการแผ่นดินอีกต่อไป แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2416 เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์แล้ว สามารถว่าราชการและบริหารงานต่างๆ ได้โดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ประวัติศาสตร์ชาติไทยเรา องค์กษัตราอยู่คู่พระศาสนามาโดยลำดับ ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะและองค์อัครศาสนูปถัมภก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่พระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติเสด็จออกผนวชนั้น นับเป็นบุญกริยายิ่งใหญ่ และยากที่พระมหากษัตริย์ทั่วไปจะทรงกระทำได้


ไปข้างบน