การบำเพ็ญศีล ตอน ๒

สิกขาบท ๘

พระพุทธเจ้าองค์ใดที่อุบัติมาในโลกนี้นับไม่ถ้วน ทรงบัญญัติสิกขาบท ๕ ประการนี้เหมือนกันทุกพระองค์ สำหรับผู้ครองเรือน ควรจะสมาทานอยู่ในสิกขาบท ๕ ประการนี้ ตั้งจิตเจตนาละเว้นความชั่ว ๕ ประการนี้ให้ได้ และเพิ่มอีก ๓ ข้อสำหรับผู้นุ่งขาวห่มขาวหรือจะเป็นนุ่งดำห่มดำก็ตาม หากว่ามีศรัทธาที่จะรักษาแล้วก็ย่อมมีสิทธิที่จะรักษาได้

๖. วิกาลโภชนา ท่านห้ามไม่ให้รับประทานอาหารในยามวิกาล คือตั้งแต่หลังเที่ยงไป สิกขาบทนี้เป็นเครื่องตัดกังวลการแสวงหาอาหารมาบำรุงบำเรออัตภาพร่างกายอย่างมากทีเดียว เพราะความกังวลใดๆ ในโลกนี้ มันก็กังวลในเรื่องของอาหารไม่ใช่น้อยเหมือนกัน ไม่ยิ่งหย่อนกว่าอย่างอื่น เรียกว่าเป็นความกังวลจำเจต่อชีวิต สำหรับผู้ที่ไม่ได้สมาทานสิกขาบท ๘ แล้ว ก็ต้องบริโภคอาหารไม่จำกัดเวลาเลย การแสวงหาอาหารมาบริโภคนั้น พระองค์ก็ตรัสไว้ว่าเป็นทุกข์กองหนึ่ง คือที่กล่าวไว้ว่า “อาหารปริเยสนทุกขัง” ทุกข์เพราะการแสงหาอาหารเพื่ออัตภาพร่างกายนี้ จัดเข้าอยู่ในกองทุกข์ ๑๑ กอง ดังนั้น ผู้ที่เห็นทุกข์เห็นโทษแห่งการแสวงหาอาหารมาหล่อเลี้ยงอัตภาพอย่างนี้แล้ว จึงได้สมาทานมั่นในสิกขาบท ๘ ประการ หรือเลื่อนขึ้นไปเป็นสิกขาบท ๑๐ ประการ ได้แก่สามเณร หรือเลื่อนขึ้นไปเป็นพระภิกษุเรียกว่า สมาทานในสิกขาบท ๒๒๗ ก็ยังมีเบ็ดเตล็ดปลีกย่อยออกไป

ในเมื่อได้สมาทานสิกขาบทต่างๆ ดังกล่าวแล้ว เราเคารพสำรวมระวังปฏิบัติ ก็ทำให้ตัณหานั้นน้อย เบาบางลงไป ทำให้ความหิวโหยอยากบริโภคอาหารต่างๆ เบาบางลง เมื่อเราเคารพในพระวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เรามีศรัทธาเต็มใจที่จะปฏิบัติตามอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้บรรเทาลงเสียได้ซึ่งตัณหาไม่ใช่น้อยเหมือนกัน นี่คือความมุ่งหมายของการสมาทานในวิกาลโภชนาสิกขาบท

๗. นัจจคีตวาฯ ท่านห้ามมิให้ฟ้อนรำ ขับร้อง ดีดสีตีเป่า อันเป็นข้าศึกแก่กุศลทัดดอกไม้ ลูบไล้ของหอมเครื่องย้อมเครื่องทาต่างๆ เหล่านี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นข้าศึกต่อกุศล ลองพิจารณาดูว่าทำไมจึงว่าเป็นข้าศึกต่อกุศล ที่ว่าเป็นข้าศึกนั้นหมายความว่า บุคคลใดชอบแต่งเนื้อแต่งตัว ชอบลูบทาของหอม ชอบประดับประดาเครื่องประดับต่างๆ ก็ถือว่าผู้นั้นมีความยินดีเพลิดเพลินอยู่กับกามคุณ จิตใจไม่ได้น้อมมาทางบุญทางกุศล เหินห่างจากการบุญกุศล มีแต่แสวงหา มีแต่เพลิดเพลินในกามคุณ ผู้ที่ไม่ได้สมาทานมั่นในสิกขาบทข้อนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นข้าศึกแก่กุศล ผู้ที่ชอบบุญชอบกุศลมาสมาทานมั่นในศีลข้อนี้แล้ว จิตใจก็น้อมไปในทางบุญทางกุศลเป็นส่วนมาก เพราะมันไม่เพลิดเพลิน ไม่ยินดีในการขับร้อง ดีดสีตีเป่า และดูการละเล่นต่างๆ การประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อมเครื่องทา ก็เป็นภาระอันหนึ่ง เมื่อสมาทานยึดมั่นในศีลข้อนี้แล้วก็ตัดกังวลข้อนี้ออกไปได้

๘. ท่านห้ามไม่ให้นั่งนอนบนที่นอนอันสูงอันใหญ่ วิจิตรงดงาม ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี สิกขาบทข้อนี้ทรงบัญญัติห้ามเพื่อป้องกันความพอใจในที่นอนที่นั่งอันสวยงาม ติดในสัมผัส เมื่อได้นั่งได้นอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่มนิ่ม โอ่อ่า มีแอร์ มีพัดลม แล้วก็มักจะนอนหลับอย่างสนิทสนม ไม่สนใจ ขี้เกียจที่จะลุกขึ้นมาสวดมนต์ภาวนาชำระจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส ผู้ที่ไม่ได้สมาทานสิกขาบทข้อนี้จึงติดในการหลับการนอน เพราะได้นอนบนที่นอนอันสวยสดงดงาม อันล่อตาล่อใจให้ใหลหลงอยู่ในสัมผัสเหล่านั้น ดังนั้นพระศาสดาจึงได้ทรงบัญญัติห้ามนั่งนอนบนที่นอนอันสูงอันใหญ่ อัดยัดด้วยนุ่น มีความวิจิตรงดงาม

ผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์แบบนุ่งขาวห่มขาว หรือจะเป็นนุ่งดำห่มดำ เมื่อได้สมาทานมั่นในสิกขาบท ๘ ข้อนี้แล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เช่นเดียวกันกับผู้ที่นุ่งเหลืองห่มเหลือง ต่างแต่ความสำรวมระวัง นึก ความละเว้นในข้อบัญญัติห้ามนั้นมากน้อยกว่ากันเท่านั้น อ่านต่อ...