สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม
ตอน 2


โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ในเมื่อได้พูดถึงหลักแห่งการทำความดีให้มั่นคงลงไปด้วยวิธีการทำสมาธิแล้ว บัดนี้เรามาพูดถึงวิธีการทำสมาธิ สมาธิเป็นอุบายวิธีที่จะน้อมนำเอาธรรมะมาให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันของเรา เราพอที่จะประมวลหลักแห่งการปฏิบัติในหลักใหญ่ ๆ ได้ ๓ ประการ คือ

๑. หลักแห่งการบริกรรมภาวนา
๒. หลักแห่งการค้นคิดพิจารณา
๓. หลักแห่งการทำสติ กำหนดตามรู้ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทานดื่ม ทำ พูด คิด
หลักการปฏิบัติสมาธิแม้จะมีมากมายในคัมภีร์พระไตรปิฎก ในเมื่อสรุปรวมลงแล้วก็อยู่ในหลัก ๓ ประการ ดังที่กล่าวมานี้ จะว่าด้วย

๑. หลักแห่งการบริกรรมภาวนา

การบริกรรมภาวนาก็มีด้วยกันหลายแบบหลายอย่าง บางท่านก็สอนให้ภาวนาพุทโธ บางท่านก็สอนให้ภาวนายุบหนอ พองหนอ บางท่านก็สอนให้ภาวนาสัมมาอรหัง ทั้ง ๓ แบบนี้เมื่อภาวนาแล้วจุดมุ่งหมายก็เพื่อมุ่งให้จิตสงบเป็นสมาธิ มีสติปัญญาสามารถที่จะพิจารณาสภาวธรรมให้รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงของกฏธรรมชาติ ผลลัพธ์ก็ไปลงสู่จุดเดียวกัน ใครภาวนาก็อาศัยหลักการ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แต่เนื่องด้วยผู้เทศน์มีความชำนิชำนาญในการภาวนาพุทโธ จึงจะนำเอาวิธีการภาวนาพุทโธมากล่าว

การภาวนาพุทโธ ถ้าว่ากันด้วยวิธีการ ก่อนอื่นเราจะต้องไหว้พระสวดมนต์เจริญเมตตาพรหมวิหาร แล้วมานั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย ตั้งกายให้ตรง มือขวาทับมือซ้าย ดำรงสติให้มั่น แล้วน้อมนึกถึงคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยบทพระบาลีว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ถึง ๓ ครั้ง ต่อจากนั้นผู้ภาวนากำหนดจิตทำสติ น้อมจิตใจเชื่อลงไปว่า พระพุทธเจ้าก็อยู่ในจิต พระธรรมก็อยู่ในจิต พระสงฆ์ก็อยู่ในจิต เราจะสำรวมเอาจิตดวงเดียวเท่านั้น แล้วตั้งหน้าตั้งตาบริกรรมภาวนาพุทโธไว้นในใจ นึกพุทโธด้วยความเบาใจ อย่าให้มีความข่มใจ อย่าให้มีการบังคับใจ เพียงแต่ประคองใจให้นึกพุทโธ พุทโธ อยู่ตลอดเวลาเท่านั้น ในขณะที่ภาวนาอยู่ จิตจะสงบหรือไม่สงบเราไม่ควรคิด จิตจะรู้จะเห็นอะไรหรือไม่ เราไม่ควรคิด หน้าที่ของเรามีแต่นึกบริกรรมภาวนาพุทโธอยู่เพียงอย่างเดียว ในเมื่อท่านพยายามที่จะฝึกหัดให้คล่องตัวจนชำนิชำนาญ จนกระทั่งจิตของท่านนึกภาวนาพุทโธเองโดยอัตโนมัติ คำว่าภาวนาเองโดยอัตโนมัติคือจิตนึกถึงพุทโธโดยความไม่ได้ตั้งใจ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด จิตจะนึกพุทโธอยู่ตลอดเวลาทั้งหลับทั้งตื่น เมื่อจิตของท่านนึกพุทโธอยู่ตลอดเวลาไม่รู้จักหยุดยั้ง ก็แสดงว่าท่านผู้ภาวนาได้องค์ฌานที่ ๑ กับ องค์ฌานที่ ๒ คือ วิตกกับวิจาร ถ้าจะมีปัญหาว่า เพียงแค่จิตนึกพุทโธอยู่ไม่หยุด ความสงบของจิตไม่มีกรากฏการณ์เกิดขึ้น ความมีปีติและความสุขก็ไม่มี ความเป็นหนึ่งของจิตก็ไม่มี แล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรจากการนึกพุทโธอยู่ไม่หยุด โดยธรรมชาติของจิต ในเมื่อมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก แม้จิตยังไม่สงบ เราจะได้พลังงานทางสติเพิ่มขึ้นทุกที โดยอุบายวิธีนี้เป็นการฝึกหัดสติสัมปชัญญะให้มีความเข้มแข็งขึ้น ในเมื่อสติสัมปชัญญะมีความเข้มแข็งขึ้น โอกาสที่จิตจะมีความสงบ ได้ปีติ ได้ความสุข ได้ความเป็นหนึ่งนั้น ย่อมเกิดมีขึ้นได้ ปัญหาสำคัญขอให้ท่านพยายามทำติดต่อกัน ทำเนือง ๆ ทำให้มาก ทำให้ชำนิชำนาญ ทำให้คล่องตัว จนกระทั่งจิตของท่านนึกพุทโธเอง ถ้าหากจิตของท่านอยู่กับพุทโธตลอดกาล ความกังวลในเรื่องความวุ่นวายต่างๆ มันก็จะลดน้อยลงเพราะจิตของท่านมีที่อยู่คือพุทโธ ในเมื่อจิตมายึดมั่นอยู่กับพุทโธเพียงอย่างเดียว ท่านก็ย่อมปล่อยวางสิ่งวุ่นวายทั้งหลายลงได้ อย่างน้อยก็ทำให้ความตึงเครียดในชีวิตประจำวันผ่อนคลายลงไป อันนี้คือผลที่จะพึงเกิดขึ้นจากการภาวนาพุทโธในเบื้องต้น อันนี้เป็นหลักที่ ๑

๒. หลักแห่งการใช้ความคิด

ในคัมภีร์หมายถึงว่า การพิจารณา มีการพิจารณากายคตาสติเป็นต้น หรือมีการพิจารณามหาสติปัฏฐาน ๔ แต่ถ้าสมมุติว่าเราไม่มีเวลาหรือไม่มีภูมิความรู้ที่จะเอาภูมิของมหาสติปัฏฐาน ๔ หรือกายคตาสติมาพิจารณา เราจะเอาสิ่งอื่นมาพิจารณาบ้างไม่ได้หรือ เช่น อย่างเราเรียนรู้วิชาทางโลกมา จบมาด้วยวิชาอันใดแล้วก็น้อมเอาวิชาอันนั้นมาเป็นอารมณ์พิจารณา เช่นอย่างผู้ที่เรียนจบมาทางวิทยาศาสตร์ นึกถึงวิทยาศาสตร์ ตั้งปัญหาถามตัวเองว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร แล้วก็หาคำตอบไปเรื่อย ก็สามารถที่จะทำให้จิตสงบ เป็นสมาธิได้ เพราะสิ่งที่เราคิดเป็นสิ่งรู้ของจิต เมื่อเราทำสติกำหนดรู้อยู่กับสิ่งที่จิตมันรู้ ก็เป็นการทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก เป็นอุบายแห่งการภาวนาเหมือนกัน อันนี้เป็นหลักที่ ๒ ไม่ว่าท่านจะคิดอะไร ทำสติสัมปชัญญะให้มันรู้ชัดในสิ่งที่ท่านคิดนั้น ในเมื่อท่านทำฝึกหัดบ่อย ๆ ทำให้มาก ๆ พลังของจิตในทางสติสัมปชัญญะจะเพิ่มขึ้นทุกที ในเมื่อจิตมีสติสัมปชัญญะเป็นเจตสิกบรรจุอยู่ในจิต จิตก็สามารถที่จะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ เป็นสมาธิแบบที่มีวิตก วิจาร มีปีติ สุข เอกัคคตา ทั้ง ๒ หลักการนี้เราอาจใช้เวลา นั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง หรือนอนกำหนดจิตพิจารณาบ้าง อ่านต่อ...