วิธีสร้างพลังจิตปราบขันธมาร
ตอน 2

นักปฏิบัติทั้งหลายผู้มีจิตใจเข้มแข็ง ย่อมยอมเสียสละชีวิตเพื่อบูชาข้อวัตรปฏิบัติ ไม่เห็นแก่ความสุขเพียงเล็กน้อย ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่เห็นแก่ความสุขความสบาย สนุกเพลิดเพลิน เพราะความสนุกเพลิดเพลินความสบายที่เป็นไปตามกระแสแห่งโลก ๆ นั้น มันมีลักษณะเปรียบเทียบเหมือนกับยาพิษเคลือบน้ำตาล เมื่อเรายังหลงอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขและอำนาจ นั่นแหละเราหลงอยู่ในยาพิษเคลือบน้ำตาล เราบริโภคเข้าไปแล้วมันเกิดมีรสหวาน แต่เข้าไปตกถึงท้องแล้วมันทำให้ปวดแสบปวดร้อน เพราะฉะนั้น บางสิ่งบางอย่างที่เราทำไป เราคิดว่ามันเป็นการถูกต้อง คือมันถูกต้องตามความรู้สึกนึกคิดของเรา แต่มันไปผิดกฎของธรรมชาติที่มันจะทำให้เกิดบาปกรรม ในขณะที่ทำเราอาจจะมีความดีใจสนุกเพลิดเพลิน แต่เมื่อทำลงไปแล้วเราจะรู้สึกว่าเดือดร้อน เพราะการทำผิดพระธรรมวินัย มันจะเกิดเดือดร้อนวิปฏิสารอยู่ตลอดเวลา เปรียบเหมือนกับโจรผู้ร้ายที่ไปจี้ปล้น ตัดช่องย่องเบา แย่งชิงทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตน ในขณะที่เขาทำการอยู่นั้น ได้มาซึ่งสิ่งที่เขาต้องการ เขาดีอกดีใจ บางทีเกิดปีติ เกิดความสุขเพราะได้สิ่งนั้นมา แต่ความสุขที่เขาได้มานั้น สิ่งที่เขาได้มานั้นนั่นแหละคือยาพิษเคลือบน้ำตาล ได้มาแล้วจะบริโภคก็หวาดระแวง เอาไปไว้ที่ไหนก็หวาดระแวง ทำความเดือดร้อนให้อยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น สมณะหรือนักบวชนักปฏิบัติทั้งหลายที่ขาดความจงรักภักดี ขาดความซื่อสัตย์ต่อพระธรรมวินัย ขาดความซื่อตรงต่อคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปแอบทำความผิดอยู่เฉพาะตัว แม้คนอื่นไม่เห็นแต่ตัวเองก็เดือดร้อน เพราะรู้ว่าตัวเองเป็นผู้ทำผิด ดังนั้น การที่เรามาทำจิตทำใจทำสมาธิภาวนา ก็เพื่อจะสร้างจิตของเราให้มีพลังงานคือสมาธิ ให้มีสติคือความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี เราน้อมจิตน้อมใจน้อมอารมณ์เข้ามาสู่ใจเพื่อให้รู้สภาพความจริงของใจของจิต ถ้าเรารู้ว่านี่มันยังเต็มไปด้วยเจตนาที่ชั่วร้าย เราก็พยายามปฏิบัติศีลให้มันเคร่งครัดเข้า ถ้าสิ่งใดที่มันมีเจตนามีแนวโน้มไปในทางบุญทางกุศลทางความดี ทางศีลสมาธิ ภาวนา มรรคผลนิพพาน ฝึกฝนอบรมจิตของตนเองให้มีความคล่องตัวต่อความเป็นเช่นนั้น “ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา” คือความอดทน ความอดกลั้น ความทนทาน เป็นตปธรรม คือความเพียรเผาบาปอย่างยิ่ง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความชอบ ความเกลียด มีกันอยู่ทุกคน เมื่อเรามีเจตนามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อขจัดกิเลสทั้งหลายเหล่านั้น ควรแล้วหรือที่เราจะปล่อยจิตของเราให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลส โดยปราศจากสติสัมปชัญญะความยับยั้งชั่งใจและขันติความอดทน เราเรียนธรรมเรียนวินัย เราฟังธรรมฟังวินัยที่ครูบาอาจารย์เทศน์ก็ดี หรือในคัมภีร์ก็ดี เพื่อจะศึกษาให้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป อะไรเป็นทางสวรรค์อะไรเป็นทางนรก อะไรเป็นทางมรรคผลนิพพาน เพื่อให้เรารู้และเข้าใจ แล้วจะได้น้อมนำไปประพฤติดัดกาย วาจา และใจของตนเอง ให้เป็นไปตามระบอบแห่งพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง

ในตอนต้น ๆ แม้ว่าเราจะยังรู้สึกฝืนใจ เมื่อเรายังมีกิเลสอยู่ ตาเห็นรูปความชอบความเกลียดย่อมมีเมื่อเรายังมีกิเลสเป็นปุถุชนอยู่ หูได้ยินเสียงความชอบความเกลียดย่อมมีเมื่อเรายังมีกิเลสอยู่ ในเมื่อลิ้นสัมผัสกับรส ความชอบความไม่ชอบย่อมมีเมื่อเรายังมีกิเลสอยู่ การสัมผัสทางกาย สิ่งที่ทำให้เราชอบใจก็มี ไม่ชอบใจก็มี เรานึกถึงอารมณ์ในทางจิต อารมณ์อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ความชอบใจไม่ชอบใจก็ย่อมมีเพราะเรามีกิเลสอยู่ ดูกันที่ตรงนี้ดีไหม ดูให้มันรู้แจ้งชัดลงไปว่า เรายังชอบอะไรอยู่ในสิ่งที่มันเป็นบาปอกุศล เรายังชอบอะไรอยู่ที่มันเป็นบุญเป็นกุศล เมื่อเรารู้ว่าจิตของเราชอบหรือไม่ชอบเราจะปฏิบัติจิตของเราให้แปรสภาพไปในทางที่ถูกต้องหรือจะปล่อยให้มันเป็นไปตามอารมณ์จิตที่มันชอบ หมายถึงชอบใจในสิ่งที่เป็นบาปอกุศล

ในขณะที่เรายังแก้ไขมันไม่ได้ เราก็ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะพิจารณาคุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ แล้วใช้ขันติ ความอดทน ความอดกลั้น ความทนทาน จนมันเกิดเป็นตปธรรม เพราะความเคยชินต่อการอดทนเสียจนเป็นนิสัย ทีแรกเราตั้งใจอดทน แต่ว่ามันอยากจะละเมิดล่วงเกิน จิตใจมันนึกตะหงิด ๆ อยู่ เอาดีหรือไม่เอาดี แต่เราอาศัยความอดทนพยายามน้อมจิตน้อมใจให้มันเป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบที่ควร เมื่อฝึกอบรมจนคล่องตัวมันเป็นนิสัย นิสัยก็คือความเคยชิน ตอนที่เรายังไม่มีศีลไม่มีธรรม การก้าวเดินของเราก็ไม่สุภาพเรียบร้อย กระโดกกระเดก ลงส้นดังตึง ๆ ไม่ใช่สันดานผู้ดี แต่เมื่อเราพยายามอดทนฝึกหัดค่อยๆ ย่องเบาๆ จนเคยจนชินจนคล่องตัว หนักๆ เข้าการเดินของเราก็จะมีความสุภาพเรียบร้อย ฝีเท้าก็เบา ไม่ลงส้นตึงๆ เหมือนอย่างแต่ก่อน และเมื่อเราฝึกหัดจนเคยชินจนคล่องตัวแล้ว ต่อไปเราจะไม่ต้องตั้งใจว่าเราจะทำอย่างนั้น เพราะอาศัยความคล่องตัวนั้น ความเบา ความสุภาพอ่อนโยน มันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ แม้การประพฤติสิ่งอื่นๆ อันเป็นไปด้วยกายก็ดี ก็ต้องอาศัยความอดทน อาศัยการฝึกหัดจนคล่องตัวจนเป็นนิสัย แม้แต่การพูดด้วยวาจาก็ดี ก็ต้องอดทน พยายามหาคำพูดที่สุภาพอ่อนโยนมาเปล่งออก คำด่า คำเสียดสี คำครหานินทาหรือคำว่าร้าย หรือการตำหนิด้วยเจตนาที่จะทำลาย เราอดทนไม่ทำเช่นนั้น เพราะมันผิดศีล อดทนเสียจนคล่องตัวเป็นนิสัย จนเราพูดคำหยาบไม่ได้ จิตใจของเราก็ฝึกฝนอบรมให้มีแนวโน้มนึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณศีลคุณทานที่เราบำเพ็ญมาแล้ว ในทางบุญทางกุศลตลอดเวลาเป็นนิสัย นิสัยที่เราสร้างขึ้นด้วยกาย สร้างขึ้นด้วยวาจา สร้างขึ้นด้วยจิตคือเจตนาอันแน่วแน่ เมื่อมันถึงซึ่งความละเอียดลึกซึ้งลงไปในจิต มันกลายเป็นอุปนิสัย อ่านต่อ...