หลักธรรมสร้างสันติสุขแก่ชีวิตและสังคม ตอน ๒

ทุกสังคมต้องการความมีน้ำใจและความพร้อมเพรียง

การทำงานนั้น สำคัญอยู่ที่ความมีน้ำใจ คนเราจะดีจะชั่วต่อกัน หรือจะมีความดีความชั่วอันเป็นสิ่งที่ยึดน้ำใจกันหรือเกลียดชังกันก็ตาม ข้อสำคัญอยู่ที่ความมีน้ำใจ

เช่นอย่างพระภิกษุสงฆ์สามเณรอยู่ร่วมกันในอาวาสหนึ่ง ๆ ก็ย่อมมีน้ำจิตน้ำใจต่อกัน พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิก พร้อมเพรียงกันทำกิจของตนที่จะเกิดขึ้น เป็นต้นว่า ทำความสะอาดวัด หรือซ่อมแซมเสนาสนะ ก่อสร้างศาสนสถานต่าง ๆ ด้วยความพร้อมเพรียงกัน

แม้แต่ทางคณะสงฆ์ก็ยังมีความพร้อมเพรียง สามัคคีซึ่งกันและกัน ส่วนกิจการงานในทางฆราวาสหรือชาวโลกนั้น ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องอาศัยความพร้อมเพรียงสามัคคีซึ่งกันและกัน

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

พุทธธรรมที่ใช้ในการสร้างชาติ

ได้ทราบว่า ในประเทศเกาหลีเขาก็นับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกันกับเรา แต่รัฐบาลเขาถืออุดมคติในการอบรมประชาชนของเขาในหลัก ๓ ประการ

ประการที่ ๑ เขาอาศัยหลัก อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน
ประการที่ ๒ เขาอาศัยหลัก วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ จะล่วงทุกข์ไปได้ก็เพราะความพากเพียร
ประการที่ ๓ สามัคคี สะมัคคานัง ตะโป สุโข ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะย่อมให้เกิดสุข

หลักธรรมะทั้ง ๓ ประการนี้ เขาถือว่าเป็นหัวใจของธรรมะ เป็นหัวใจของหลักธรรม ที่เขาจะต้องอบรมทุก ๆ คนให้ยึดมั่นในหลักนี้

เพราะฉะนั้น ตามนโยบายของรัฐบาลในสมัยปัจจุบันและแม้ในอดีต เรามีนโยบายที่จะช่วยฟื้นฟูศีลธรรมและวัฒนธรรม จนกระทั่งสุขภาพและอนามัยหรือสิ่งใดซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เรามุ่งที่จะช่วยเหลือประชาชนของเราโดยทุกวิถีทาง แต่ในบางครั้งก็รู้สึกว่าประชาชนของเราไม่ค่อยจะมีการช่วยเหลือตัวเอง ในเมื่อใครเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นมา ก็โวยวายแต่จะร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น การที่จะช่วยเหลือตนเองจนสุดความสามารถนั้น รู้สึกจะมีน้อยเต็มที ดังนั้น จึงเป็นภาระของทางฝ่ายราชการทุกหน่วยทุกแผนกที่จะต้องมีความกระตือรือร้นช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ในเมื่อเรามารู้ข้อเท็จจริงคือความเป็นไปของประชากรในประเทศชาติของเราดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่แสดงตนเป็นผู้นำประชาชน เราจะต้องอาศัยการทำงานทำการด้วยความหมั่นความขยันและด้วยความพากเพียร เพื่อมุ่งผลประโยชน์ให้เกิดสุขแก่ประชากรอย่างจริงจัง

ทำงานเพื่อสร้างบุญกุศล ไม่ใช่เพียงแลกกับค่าจ้าง

การทำงานนั้น ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายคิดว่าเราเป็นลูกจ้างรัฐบาล เราทำงานเพื่อต้องการสินจ้างรางวัล ถ้าท่านทั้งหลายพากันคิดอย่างนี้โดยส่วนเดียว ท่านจะไม่ได้บุญจากการทำงาน ถ้าหากว่าท่านคิดว่าท่านมีหน้าที่ที่จะช่วยเหลือประชาชน บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน ให้คำแนะนำให้รู้จักรักษาสุขภาพและอนามัย ถ้าท่านคิดว่าท่านทำบุญกับเขาทั้งหลายเหล่านั้น ท่านก็ได้บุญอยู่ตลอดเวลา

การทำบุญนั้นมิได้หมายเฉพาะที่เราจะมาทำกันกับพระเจ้า พระสงฆ์ แม้ทำบุญกับชาวบ้านคือช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ซึ่งเขากำลังได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนอยู่ ให้บรรลุถึงความสุขบ้างตามสมควร ก็ได้ชื่อว่าเป็นการทำบุญอยู่ตลอดเวลา

ใช้หลัก “สุคะโต” ในการทำงาน

ดังนั้น ธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีปริยายอันกว้างขวางเหลือเกิน เพื่อเป็นหลักใจและเป็นเครื่องยึดในจิตใจของท่านผู้ฟังทั้งหลาย อยากจะใคร่ขอร้องให้ท่านทั้งหลายยึดพระไตรสรณคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ขอได้โปรดพิจารณาตามนัยแห่งพระพุทธคุณว่า

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ พระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง

วิชชาจรณะสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

สุคะโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว

คำว่า “สุคะโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว” พุทธคุณบทนี้เป็นสิ่งที่ท่านควรจะน้อมนำเข้ามาไว้ในจิตในใจของตนเอง โดยวิสัยของพระพุทธเจ้านั้น เสด็จไปที่ไหนก็ไปทำความดีให้เกิดแก่ประชุมชนในที่นั้น ๆ เช่น ไปแสดงพระธรรมเทศนา สั่งสอนให้เรารู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ สอนให้เขาประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความหมั่น ความขยัน ดังหลักประโยชน์ในปัจจุบันที่ทรงสอนไว้ว่า

อุฏฐานสัมปทา จงถึงพร้อมด้วยความหมั่นขยันในหน้าที่การงาน และทำงานในหน้าที่ของตนโดยความมีน้ำจิตน้ำใจ

อารักขสัมปทา รักษาผลงานที่ตนกระทำขึ้นหรือผลประโยชน์ที่ตนประกอบกระทำขึ้นไว้ไม่ให้เสื่อมสูญ

สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตให้พอสมควรแก่ฐานะและรายได้ของตนเอง

กัลยาณมิตตตา คบกัลยาณมิตรคือมิตรที่ดี เว้นจากการคบคนพาล และให้คบบัณฑิต

ในเมื่อพระองค์ได้ทรงสอนแก่ประชากรทั้งหลาย เมื่อประชากรทั้งหลายได้ยึดหลักประโยชน์ในปัจจุบันเป็นหลักธรรมดำเนินชีวิต เขาทั้งหลายก็ย่อมบรรลุผลสำเร็จที่ตนพึงปรารถนา ดังนั้น พระองค์เสด็จไปที่ไหนจึงได้ชื่อว่าเสด็จไปดี ในเมื่อไปถึงที่ไหนแล้ว ก็มีผู้ยินดี เมื่อพระองค์ประทับอยู่ก็มีผู้ยินดีและพอใจ เสด็จหนีไปก็มีผู้อาลัยคิดถึง อันนี้คือลักษณะคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า

ผู้ที่ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ควรจะยึดเอาหลัก สุคะโต เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินงานของตัวเอง เราไปที่ไหนก็ไปเที่ยวแนะนำประชาชน ไม่เฉพาะแม้แต่หลักสุขภาพอนามัยเท่านั้น แม้แต่หลักศีลธรรมก็เป็นสิ่งที่เราควรจะทำควบคู่กันไปด้วย

การปฏิบัติต่อตนเองให้งามภายนอก

ทีนี้หลักธรรมะหรือศีลธรรมก็ดี เรามาพูดถึงหลักการประพฤติธรรม ได้กล่าวในเบื้องต้นว่า ธรรมะคือกายกับใจของเราทุกคน ถ้าเราใช้ความคิดในแง่ธรรมะ เราก็จะได้ธรรมะอยู่ตลอดเวลา เช่นอย่างสมมติว่า เราตื่นขึ้นตอนเช้า เราจะทำอะไรเกี่ยวข้องกับร่างกายของเรา เราจะต้องเข้าห้องน้ำ แปรงฟัน และทำความสะอาดร่างกาย ทีนี้ถ้าเราใช้ความคิด เราก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นในใจว่า ทำไมเราจึงจะต้องทำความสะอาดร่างกาย ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำอย่างนั้น มันจะมีอะไรเกิดขึ้น เราก็จะได้คำตอบว่าความสกปรกมันก็เกิดขึ้น ในเมื่อมันมีความสกปรกเกิดขึ้น เราก็ได้อสุภกรรมฐาน

พระพุทธเจ้าสอนว่า ร่างกายของเรานี้มันเต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียด มีแต่สิ่งอสุภังไม่สวยไม่งามทั้งนั้น ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะคัดค้านมติของพระพุทธเจ้าว่า ทำไมมันจึงจะไม่สวย ฉันตกแต่งเสียสวยงามสวยหรูเลย ทำไมพระพุทธเจ้าจึงว่าฉันไม่สวย บางทีท่านอาจจะคิดคัดค้านพระพุทธเจ้า ก็เพราะเหตุว่าร่างกายของเรามันเป็นของไม่สวยไม่งาม เราจึงต้องตกแต่งด้วยผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับตกแต่งต่าง ๆ ถ้าหากมันสวยอยู่แล้ว เรื่องอะไรเราจะต้องไปตกแต่ง เพราะมันไม่สวยไม่งาม ถึงแม้ว่ารูปพรรณสัณฐานจะสดสวยงดงามสักปานใดก็ตาม มันก็ไม่วายที่จะเกิดความปฏิกูลน่าเกลียดคือความสกปรก ดังนั้น เราจึงปฏิบัติต่อธรรมะก้อนนี้คือร่างกายของเรา คือรักษาความสะอาดและสุขภาพอนามัย อ่านต่อ...